เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ใจความระบุว่าตามที่ปรากฏข่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ว่า เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่ตรงตามกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 13 (3) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 หรือไม่ นั้น กกต.ชี้แจงว่า ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานอันแสดงว่า ตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่ง และต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติเช่นนั้นจริง โดยหากผู้สมัครหรือพยานลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครเป็นเท็จ อาจมีโทษตามมาตรา 75 ของ พ.ร.ป.ดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ที่บัญญัติให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ทั้งนี้ ในส่วนของคำว่า “ความรู้” ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งของมาตรานี้ ไม่ได้หมายถึงความรู้ที่จะวัดกันด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญา แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริงในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 13 (3) พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. สำนักงาน กกต. จะได้ศึกษา พร้อมทั้งจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องคัดค้านโดยเร็วต่อไป

อนึ่ง กรณีมีผู้มายื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ไม่ลงคะแนนเลือกตนเองในรอบแรก นั้น สำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนและไต่สวน ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 หากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติและรับฟังได้ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามที่กฎหมายกำหนด จักดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป.