นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า  ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn เผยผลงานวิจัย Work Trend Index 2024 เปิดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลก ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในที่ทำงาน โดย รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พร้อมด้วยแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลก

โดย ปี 2024 ถือเป็นปีของ AI เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง หลังจากที่มีพนักงานทั่วโลกนำ Generative AI มาใช้ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อยได้นำเอาทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับ AI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่ของตนมากขึ้น ทางด้านผู้บริหาร ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะไม่จ้างผู้สมัครที่ไม่มีทักษะด้าน AI

แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจำนวนมาก ทั้งในเอเชียและทั่วโลก ยังคงกังวลเกี่ยวกับการขาดวิสัยทัศน์ด้าน AI ของบริษัท และการที่พนักงานนำเครื่องมือ AI ส่วนตัวมาใช้ในสถานที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารในหลายองค์กรจึงต้องเผชิญความยากลำบากกับการปรับตัว เมื่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต้องเปลี่ยนผ่านจากช่วงการทดลองใช้งาน ไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

 “ในปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าพนักงานส่วนใหญ่เลือกนำ AI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานการสำรวจ Work Trend Index 2024 ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน 3 ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งผู้บริหารและพนักงานในประเทศไทย และสะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปีนี้

1.  พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม

ผลสำรวจ Work Trend Index เผยว่าพนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกได้ว่า Bring Your Own AI (BYOAI) ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล

แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ดังนั้น AI จึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น

ทางด้านผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้

2. ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น  และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึงความแตกต่างในพฤติกรรม AI ของกลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน

ในประเทศไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%

นอกจากนี้ โครงสร้างในการสนับสนุนการใช้งาน AI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%

3. AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ และช่วยทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%

ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด