องค์การการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ว่า ‘มหาสมุทร’ ได้รับผลกระทบจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นเวลานาน ‘ในฐานะที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ด้วยการดูดซับความร้อนและพลังงานส่วนเกินที่ปล่อยออกมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปัจจุบัน มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนไว้มากถึง 90% จากการปล่อยมลพิษที่เพิ่มขึ้น

ด้วยความร้อนและพลังงานที่มากเกินไป ส่งผลให้มหาสมุทรมีความอุ่นขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่การละลายของน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น คลื่นความร้อนในทะเล ไปจนถึงความเป็นกรดของมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนชายฝั่งและภูมิภาคอื่น ๆ

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ผืนน้ำสีครามอันกว้างใหญ่ดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น มันยังทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์โลกของเราอย่างเงียบ ๆ ผ่านกลไกทางธรรมชาติอันทรงพลัง ที่เรียกว่า ‘บลูคาร์บอน’ (Blue Carbon) ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตดังกล่าว

‘บลูคาร์บอน’ คือ คาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล อาทิ ป่าชายเลน ทุ่งหญ้าทะเล และบึงเกลือ ระบบนิเวศเหล่านี้เปรียบเสมือน ‘ฟองน้ำธรรมชาติ’ ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ และกักเก็บไว้ในรูปของ ‘คาร์บอนอินทรีย์’ ในดิน ตะกอน และเนื้อเยื่อของพืช ซึ่ง ‘มีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าบกหลายเท่า’ ทั้งยังช่วยชะลอการกัดเซาะชายฝั่ง ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยบลูคาร์บอน จึงถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญต่อการเผชิญหน้ากับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของชุมชนชายฝั่ง

“บลูคาร์บอน จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะลดปัญหาโลกเดือดได้ ถ้าเราไม่มีแหล่งป่าชายเลน ไม่มีแหล่งหญ้าทะเล หรือแม้กระทั่งสาหร่ายในปะการังที่เป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ตรงนี้คือปัญหา ดังนั้นแล้ว ถ้าเราเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพิ่มแหล่งหญ้าทะเล ไม่ว่าจะด้วยการฟื้นฟู การปลูกเพิ่ม ตลอดจนการบริหารจัดการป่าชายเลนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ให้ยังอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตรงนี้ก็จะเป็นทางช่วย และหากมนุษย์ไม่เข้าไปใช้ประโยชน์หรือปล่อยน้ำเสียเข้าไป บลูคาร์บอนของเราก็จะยังทำหน้าที่ในการดูดซับคาร์บอนต่อไปได้” ‘ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง’ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในเวทีเสวนา ‘สถานการณ์ภาวะโลกเดือด ความท้าทาย ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหาในประเทศไทย’ ที่จัดโดย ‘สิงห์อาสา’ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา (สวทม.) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องบลูคาร์บอน หรือการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยทะเลและชายฝั่ง ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

เช่นเดียวกันกับ ‘ดร.สราวุธ ศิริวงศ์’ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้กล่าวถึงด้านการศึกษาในประเด็นดังกล่าวว่า งานวิจัย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ของบลูคาร์บอน เช่น หากหญ้าทะเล ป่าชายเลน และปะการัง หายไปจำนวนจำนวนหนึ่ง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะไหลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมีตัวเลขอยู่ที่เท่าใด สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง

เนื่องจากสภาพของระบบนิเวศในประเทศไทยมีความหลากหลายแตกต่างจากประเทศอื่นๆ พื้นที่ป่าชายเลนในไทย อาจมีศักยภาพสูงกว่าป่าชายเลนในต่างประเทศบางพื้นที่ กระทั่งพื้นที่ป่าบกในไทยและต่างประเทศก็มีศักยภาพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นงานวิจัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา จะต้องอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัย

“งานวิจัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ การจะแก้ปัญหานิเวศทางทะเล ก็มีหลายมาตรฐานในการตรวจวัดเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเรามีตัวเลขความสามารถของป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ในประเทศไทยได้ มันก็สามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่า เราต้องฟื้นฟูเท่าไหร่ เพิ่มพื้นที่เท่าไหร่ และควรจะต้องวางแผนไปในทิศทางไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ” ดร.สราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมพูดคุยถึงบทบาทของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ต่อการรับมือกับปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างการเชิญสื่อมวลชมเยี่ยมชม โรงเพาะเลี้ยงปะการัง’ ซึ่งในส่วนของการวิจัย ดร. บัลลังก์ และ ดร.สราวุธ ปิดเผยว่า ทางสถาบันได้มีการศึกษาอย่างครอบคลุม ทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการัง แนวทางการฟื้นตัวของปะการังหลังจากเกิดการฟอกขาว วิธีการป้องกันปะการังจากการฟอกขาว

อาทิ การปลูกปะการังเทียม การเพาะเลี้ยงปะการัง การควบคุมมลพิษทางทะเล ฯลฯ จนนำไปสู่โครงการอนุรักษ์ปะการัง ไม่ว่าจะเป็น ‘การปลูกปะการังเทียม’ ‘การฟื้นฟูแนวปะการัง’ รวมถึงได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว อย่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์กรพัฒนาเอกชน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการพัฒนาเทคนิคการปลูกปะการังเทียมแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ, การค้นพบสายพันธุ์ปะการังที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง, การริเริ่มโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง ในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทยได้สำเร็จ

ทั้งนี้ ภายในโรงเพาะแห่งนี้ ไม่ได้เพาะเลี้ยงเฉพาะปะการังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีในส่วนของ ‘หญ้าทะเล’ ‘ต้นโกงกางในอ่างเพาะ’ ที่มีอายุมากถึง 20 ปี ตลอดจนปลาหลากหลายสายพันธุ์ ก็ถูกนำมาศึกษาวิจัยเพื่อทำการเพาะเลี้ยง รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบเวศทางทะเลต่อไปได้อย่างยั่งยืน