เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3

น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับงบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลว่า ตนรวมได้ จากทุกกระทรวง ทุกกรม วงเงิน 2,945 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนที่มีงบประมาณส่วนนี้ 3,200 ล้านบาท โดยแยกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรก เป็นงบประชาสัมพันธ์ทางตรง ระบุชัดในชื่อโครงการเลยว่า นำไปใช้ในภารกิจประชาสัมพันธ์ แบบที่ 2 เป็นงบประมาณที่ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ซ่อนมาในคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น รณรงค์ เสริมสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก ปลูกฝัง หรือบางโครงการ ชื่อก็เดาไม่ออกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ งบประมาณโฆษณาซ้ำซ้อนกันเป็นเงินอย่างน้อยคือ 662 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น โครงการสื่อสารเพื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด หน่วยงานที่ทำโครงการนี้ มหาดไทยทำ ใช้งบ 38 ล้าน กระทรวงศึกษาฯ ทำใช้งบ 23 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรม ใช้งบประมาณ 5 ล้าน และกระทรวงสาธารณสุข ก็ใช้งบ 100 ล้าน ซึ่งชื่อโครงการต่างกัน แต่วัตถุประสงค์เหมือนกัน ถ้ามีการคุยกันสักนิด ว่าภารกิจไหนใครทำ อย่างน้อยเราไม่ต้องจ่ายงบประมาณจำนวน 662 กว่าล้าน กับงานที่เหมือนๆ กันแบบนี้

น.ส.ภคมน กล่าวถึง ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ ว่า ในงบประมาณ ปี 67 ได้รับไป 69 ล้านบาท ปีนี้ได้รับงบประมาณมาจำนวน 68 ล้านบาท จากผลงานที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับรัฐบาล ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ก็บอกว่าตรวจสอบแล้วเป็นข่าวจริงแต่ไม่เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล ซึ่งมีปรากฏการณ์ใหม่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แก้ต่างให้พรรคการเมืองที่ถูกโจมตี ข่าวนั้นคือ พรรคเพื่อไทยนำ ปตท. เข้าแปรรูป ขายหุ้นหมดภายใน 3 นาที ซึ่งทางศูนย์ฯ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ หลักการสำคัญข้อหนึ่ง ที่ศูนย์เคยประกาศไว้เอง คือ ความเป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นอิสระ มุ่งเน้นประโยชน์ ต่อประชาชน ขนาดรัฐบาลที่แล้ว ยังไม่เคยใช้ศูนย์ฯ แก้ต่างให้พรรคของรัฐมนตรีดีอีเอส แม้แต่ครั้งเดียว

น.ส.ภคมน กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ ที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีการของบประมาณทั้งหมด 2,496 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 82 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรไปแล้ว ร้อยละ 38 และยังมีงบลงทุน 540 ล้านบาท ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์น่าจะเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบงบประมาณแต่ละปีกับผลงาน ชัดเจนว่าสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์เล็ก ๆ เขาทำได้ดีกว่า นอกจากนี้ งบที่สำคัญของกรมประชาสัมพันธ์ในการพีอาร์ภาครัฐ แต่พูดตามตรง ต่อให้กรมประชาสัมพันธ์ได้งบประมาณก้อนนี้มากกว่าเดิม 10 เท่า หรือ 100 เท่า ก็ไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงรุกในเวทีต่างชาติ ให้เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้

“ดิฉันไม่ได้นั่งเทียนวิจารณ์ด้วย ถ้าไม่เชื่อก็ลองเปิดดูเรตติ้งทีวีดิจิทัลที่เขาวัดจากทั้งคนที่ดูผ่านทีวีและอินเทอร์เน็ต ช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ในอันดับ 19 รองบ๊วยจากทั้งหมด 20 ช่อง ก็คงจะเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่ายังทำงานไม่เข้าเป้า” น.ส.ภคมน กล่าว

น.ส.ภคมน กล่าวว่า เพจ NBT connext มีการลงข่าวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนตั้งคำถามว่า เกี่ยวข้องกับภารกิจรัฐตรงไหน พอมีคนเริ่มวิจารณ์ NBT connext ลงข่าวให้พรรคก้าวไกล ตนก็จะถามคำถามเดิม มันเป็นภารกิจของรัฐตรงไหน นอกจากนี้ยังมีโครงการหนึ่ง จ้างเหมาบริการผลิตข้อมูลข่าวสาร 39 ล้านบาท โดยใช้บุคลากร พิธีกรผู้ดำเนินรายการจำนวนหนึ่งจากบริษัทที่ปิดตัวลง ย้ายมาทำให้ NBT จนประชาชนตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสม แต่ตอนนี้ที่กรมประชาสัมพันธ์ประสบปัญหาก็คือ พยายามจะใช้บทบาทตัวเองเพื่อเป็นปากเป็นเสียงทางการเมืองให้รัฐบาล มากกว่าการมุ่งเน้นงานสื่อสารเพื่อประชาชน และช่องทางแต่ละช่องทางที่ท่านหมายมั่นปั้นมือ ล้วนไม่มีคนดู เรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สู้สื่ออื่นไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ตนคาดหวังว่ารัฐบาล และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ จะแก้ไข ปรับปรุง ให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐโปร่งใส เลิกซุก เลิกซ่อน เลิกซ้อนเสียที และด้วยความปรารถนาดี การสื่อสารคือปลายทาง แต่ต้นทางที่จะทำให้การสื่อสารของรัฐบาลได้ผล คือ ฝีมือการบริหาราชการแผ่นดิน ความสง่างามทางการเมือง.