เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้โทรศัพท์สายตรงไปยังนายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์ โดยได้เจรจาขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทาง เนื่องจากการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาทที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 67 นั้น จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนมาก โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นของการเจรจา ซึ่งทางเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ แต่ขอให้ภาครัฐพิจารณาชดเชยในลักษณะคล้ายกับการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ที่ขยายสัญญาสัมปทานแลกกับการปรับค่าผ่านทางเหลือ 50 บาทตลอดสาย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้มีความเหมาะสม อาทิ หากปรับลดค่าผ่านทางลง จะต้องขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มอีกกี่ปี ส่วนตัวเลขราคาที่จะให้ปรับลดเป็นเท่าใดนั้น ขอให้รอดูผลการศึกษา ขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่าหากลดราคาแล้ว คาดว่าปริมาณรถที่มาใช้บริการก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทลล์เวย์ประมาณ 4-5 หมื่นคันต่อวัน โดยตนต้องการให้ไปพิจารณาว่าสามารถจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นคันต่อวันได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนวิภาวดีรังสิต อย่างไรก็ตามคงไม่ใช้วิธีชดเชยเงินให้เอกชน เพราะจะเป็นภาระงบประมาณรัฐบาล จึงต้องใช้วิธีการขยายสัมปทาน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ทั้งหมดภายใน 2-3 เดือน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการขยายสัมปทาน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน และหากปล่อยให้สัมปทานหมดไป ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทานอีก 2 ครั้งในเดือน ธ.ค. 2567 และ ธ.ค. 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577 ซึ่งประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ และเชื่อว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของการลดราคาผ่านทางครั้งนี้ มีประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และการปรับลดค่าผ่านทางครั้งนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต–บางปะอิน ที่ ทล.มีแผนจะดำเนินการ

ด้านนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองทล. กล่าวว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ได้รับสัมปทานจาก ทล. ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน และกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ในปี 2538 ปี 2539 และล่าสุดในปี 2550 ซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2577 ทั้งนี้จากกรณีที่นายสุริยะมีนโยบายให้เจรจาปรับลดค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ ทล.จะเร่งศึกษาข้อมูล และเจรจากับเอกชน คาดว่าหากปรับลดค่าผ่านทางลง จะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มขึ้นประมาณ 15- 20%.