เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวการประเมินระดับนานาชาติ (PISA)” ให้กับครู/อาจารย์โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวง อว. ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน PISA ในปี 2025 โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA ดร.ชามาศ ดิษฐเจริญ สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางธันยากานต์ กุลศุภกร สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และผู้บริหารและคณาจารย์จากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ เข้าร่วม ที่ห้อง Infinity ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ ในการเสริมสร้างทักษะด้านการบริหารและการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญในการวัดผลสมรรถนะของนักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ PISA กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานในอนาคต

“ขณะเดียวกัน การจัดอบรมดังกล่าวยังเป็นการสร้างความร่วมมือทั้งระหว่างกระทรวง อว. และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง PISA เพื่อทำให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและตลาดแรงงานในอนาคต อันจะมีผลต่อการเติบโตและความสำเร็จของประชากรและสังคมในระยะยาวของประเทศไทยต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยพัฒนาการศึกษาและทักษะความสามารถการเรียนรู้ที่สอดรับทักษะในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ผ่านการดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งการเข้าไปร่วมพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งบูรณาการการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน ของเด็กไทย รวมไปถึงการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความจำเป็น ลักษณะของผู้เรียน และบริบทพื้นที่การศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงพัฒนานักเรียนให้มีความพร้อมในการสอบ PISA ที่เป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน

สำหรับการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ดำเนินการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดอบรมครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมและยกระดับผลการประเมิน PISA ของประเทศไทยสำหรับปี 2025 ต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ เรื่อง ความสำคัญของโครงการ PISA ผลการประเมินที่ผ่านมา และภาพรวมของกิจกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA ชี้แจงภาพรวมของชุดพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และระบบ PISA Style Online Testing การฝึกปฏิบัติการใช้ระบบข้อสอบ PISA และการแบ่งกลุ่มปฏิบัติการ 3 ด้าน (การอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์) กรอบและลักษณะข้อสอบ PISA และแนวทางการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะตามแนว PISA โดย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี