ซึ่งหลังจากสภามีมติผ่านในวาระแรก ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องทำผลงาน ควบคู่กับการแก้ไขสถานการณ์การเมืองต่อไป โดยเฉพาะการเข็นนโยบาย “เรือธง” หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น นโยบาย “เรือเกลือ” ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะแหล่งของเงินจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยใช้ แหล่งเงินที่มา จากงบประมาณทั้ง 500,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายงบประมาณในปี 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2.เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จากการดำเนินการโครงการจากหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรจำนวน 27 ล้านคน 3.งบการบริหารจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

“ช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับฐานรากกระจายไปทั่วประเทศ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้ภาครัฐ เพื่อใช้ในลงทุนสร้างขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 วาระแรก กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้ความมั่นใจว่าจะเริ่มใช้เงินได้ในไตรมาส 4 แน่นอน

ซึ่งหากทำได้ ก็เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่างๆ ให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แต่ในขณะเดียวกัน เรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในแหล่งที่มาของเงิน ที่ต้องนำมาจาก ธ.ก.ส. ซึ่งยังไม่ได้ตามความเห็นชอบ จากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่มีท่าทีเห็นด้วยหรือสนับสนุนในโครงการฯ นี้ เช่นเดียวกับทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รวมถึง ปัจจัยภายนอก ทางการเมือง ที่อาจทำให้โครงการฯ ดังกล่าว ไม่สำเร็จ คือ การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคคีที่ 40 สว. ร้องนายกรัฐมนตรี กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรม ในการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากผลออกมาในทางลบ ไม่เพียงแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะถูกยกเลิก อาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือเลวร้ายถึงขั้น “พลิกขั้วใหม่” ซึ่งเป็นไปตามที่ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุถึง “คนในป่า” ซึ่งตีความหมายถึงใครไม่ได้นอกจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ ยังต้องจับตากรณี “เสี่ยนิด” เศรษฐา และ รัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนการ นิรโทษกรรม ซึ่งรวมถึง คดี 112 และ คดีทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยหรือไม่ หลังพรรคเพื่อไทย ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องนิรโทษกรรม ณ เวลานี้ ซึ่งดูว่าสุดท้าย “นายกรัฐมนตรี” จะกล้าฝ่ากระแสและฝืนบทเรียนในอดีตหรือไม่ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัย รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องพังมาแล้ว จากการนิรโทษกรรมแบบ “สุดซอย”

ทั้งหมดนี้เงื่อนไขทางการเมืองเบื้องต้นที่ยังไม่แน่ไม่นอน และจ่อคิวร้อน รอ “เศรษฐา” อยู่ แม้แกนนำรัฐบาลออกมาการันตีเสียงรัฐบาลแน่นปึ้ก ผ่านฉลุยในงบประมาณปี 68 ในวาระแรกก็ตาม.