เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) โดยมีสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 50 หน่วยงาน 100 คนเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการทดสอบโอเน็ตที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง สกศ.ได้รับมอบหมายอีกหนึ่งภารกิจสำคัญจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบโอเน็ต ซึ่งที่มาที่ไปเกิดจากในช่วงเวลาสถานการณ์โควิด–19  เกิดสถานการณ์ความไม่ปกติในการจัดการศึกษา โรงเรียนต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ นักเรียนและผู้ปกครองจึงเกิดความเครียดในการทดสอบต่างๆ ศธ.จึงปรับเปลี่ยนนโยบายการเข้ารับการทดสอบโอเน็ตเป็นภาคสมัครใจ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องทบทวนแนวนโยบายดังกล่าว การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว และต่อยอดการประเมินผลระบบ และแนวทางการทดสอบโอเน็ต ที่ สกศ. ได้ดำเนินการไว้

ดร.อรรถพล  กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นการกำหนดนโยบายเป็นแบบสมัครใจ  มีหลายประการ อาทิ ผลการทดสอบไม่สามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศได้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดสอบไม่เป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งประเทศ ปัญหาเด็กนักเรียนที่สมัครสอบขาดสอบเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนในการจัดสอบสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่เกิดก็มีเช่นเดียวกัน อาทิ การทดลองปรับรูปแบบการจัดสอบ โดยใช้การสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ในระดับชั้น ม.6 ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทดสอบ 

“ที่ประชุมมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของแนวทางการจัดสอบโอเน็ตที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นในการสอบให้เด็กนักเรียนเห็นประโยชน์ และอยากเข้ารับการทดสอบโอเน็ต โดยการสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ อาทิ การกำหนดให้คะแนนสอบเป็นเงื่อนไขพิเศษสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรตินักเรียนที่มีผลคะแนนที่ดีเยี่ยม และประเด็นต่อมา คือ การบูรณาการที่ทดสอบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบปกติของโรงเรียน เพื่อเป็นการลดภาระของทั้งนักเรียนและครูไปในทางหนึ่งด้วย” เลขาธิการ สกศ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สกศ.จะสังเคราะห์ข้อเสนอที่ได้จากลงพื้นที่เก็บข้อมูล และผลจากการประชุมดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนวทางการจัดการทดสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2567 ให้ รมว.ศธ. พิจารณาสั่งการต่อไป สุดท้ายนี้ ระบบการศึกษาไทยในเชิงมหภาค ขณะนี้เรามีแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ และหากเรามีการทดสอบการศึกษาแห่งชาติที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้ง 3 อย่างนี้ จะกลายเป็น 3 เสาหลักในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยให้เทียบเคียงระดับโลกต่อไป