จากกรณีที่นายกษิดิ์ชาติ ทองด้วง อายุ 53 ปี พี่ชายนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” ได้เดินทางเข้าเยี่ยมน้องชายเป็นครั้งแรกผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนออกมาเปิดเผยว่า นายเชาวลิต มีความประสงค์ขอพบทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ เพื่อต้องการให้ข้อมูลสำคัญ กระทั่งทนายเดชา ได้ออกมาแถลงข่าวว่า นายเชาวลิตต้องการพูดคุยถึงกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการและธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ช่วยให้นายเชาวลิต หลบหนีออกนอกประเทศ พร้อมระบุว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 10 นาย มีเงินหมุนเวียนที่ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ทั้งตำรวจ สส. นักการเมืองท้องถิ่น และอัยการ มูลค่าหลายสิบล้านบาท เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียวก็เป็นระดับพลตำรวจเอกที่อยู่นอกราชการ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก นายยุทธนา นาคเรืองศรี ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง เรื่องความคืบหน้าในการคุมขังนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด หลังพ้นระยะการกักโรคโควิด-19 ว่า ภายหลังจากที่นายเชาวลิตพ้นระยะการกักโรค 10 วัน ขณะนี้ยังคงอยู่ในแดนควบคุมพิเศษ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรอผลการสอบสวนวินัยของผู้ต้องขังจากคณะกรรมการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ว่าจะมีการพิจารณาบังคับโทษขังเดี่ยวนานกี่เดือน เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีคณะกรรมการชุดดังกล่าวเข้ามาพบนายเชาวลิตภายในเรือนจำกลางบางขวางเรียบร้อยแล้ว คาดว่าคณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างการเรียบเรียงและตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการสอบถามนายเชาวลิต จากนั้นหากมีผลบังคับโทษแจ้งเป็นเอกสารรายงานมา ตนจึงจะสามารถออกคำสั่งบังคับโทษขังเดี่ยวได้

ส่วนเรื่อง 10 รายชื่อที่นายเชาวลิต ได้ระบุมีความประสงค์ให้เข้าเยี่ยมนั้น นายยุทธนา ระบุว่า นายเชาวลิต ได้มีการระบุรายชื่อเป็นเครือญาติ อาทิ พี่ชาย น้องชาย ภรรยา น้องสาว เป็นต้น ส่วนเรื่องการแต่งตั้งทนายความของผู้ต้องขังที่จะเข้ามาดูแลเรื่องคดีความต่าง ๆ นั้น ทราบว่าในตอนนี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง เนื่องจากระยะเวลาการรับตัวนายเชาวลิตอยู่ในห้วงเวลาการกักโรค ดังนั้น เมื่อพ้นการกักโรค 10 วัน กระบวนการทั่วไปประการแรกคือการเยี่ยมญาติก่อน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเชาวลิตก็ได้มีการเยี่ยมญาติแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ นายเชาวลิตยังได้มีการแจ้งผ่านพี่ชายที่เข้าเยี่ยมว่าประสงค์ขอพบทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ เพื่อจะได้พูดคุยในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการให้ช่วยเหลือ

เมื่อถามว่า ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ไม่ได้อยู่ใน 10 รายชื่อที่นายเชาวลิตระบุให้มีการเข้าเยี่ยม หากเป็นเช่นนี้ การเข้าพบของทนายเดชา จะเข้าไปในฐานะทนายความเลยหรือไม่ นายยุทธนา อธิบายว่า การเยี่ยมญาติ ตามระเบียบแล้วจะมีอยู่ 2 สถานะ คือ 1.การเยี่ยมในฐานะเครือญาติเดียวกันกับผู้ต้องขัง และ 2.การเยี่ยมในฐานะทนายความ ซึ่งการเยี่ยมในฐานะทนายความจะมีลักษณะ คือ เข้าไปพบผู้ต้องขังเพื่อช่วยเหลือในเรื่องของคดีความ ซึ่งทนายจะต้องเข้ามาพบผู้ต้องขังเพื่อดำเนินการทางเอกสารเรื่องการแต่งตั้งทนายความ โดยก่อนจะเข้าพบผู้ต้องขัง ทนายจะต้องไปประสานกับศาล เพื่อศาลรับทราบว่าทนายความรายดังกล่าวจะเป็นผู้แก้ต่างให้กับผู้ต้องหาในคดีใด ดังนั้น หากทนายความจะเข้าไปพบผู้ต้องขังในเรือนจำ ทนายก็จะต้องเอาเอกสารดังกล่าวจากศาลมาแสดงต่อเรือนจำว่ามีความประสงค์จะพบผู้ต้องขัง เนื่องจากเป็นทนายความรับผิดชอบในคดี ทั้งนี้ ทนายความของผู้ต้องขังสามารถมีได้หลายคน เพราะบางท่านอาจถนัดคดีแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน

“หากทนายเดชาจะเข้าพบนายเชาวลิตภายในเรือนจำกลางบางขวาง ก็จะต้องผ่านกระบวนการเอกสารจากทางศาลเรียบร้อยก่อน แต่อย่างไรแล้วส่วนใหญ่ในกระบวนการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของทนายความ ผบ.เรือนจำ/ทัณฑสถาน หลายแห่งมักจะอนุโลมให้ทนายได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในครั้งแรกก่อนได้ เพราะกระบวนการทางเอกสารอาจจะใช้เวลาสักระยะ จากนั้นหากจะมีการเยี่ยมในครั้งถัดไป จำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังเซ็นเอกสารแต่งตั้งทนายความ อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่าในส่วนคดีความคงค้างเก่าต่าง ๆ ของนายเชาวลิต เจ้าตัวจะให้ทนายเดชาช่วยดูแลเรื่องคดีใด เนื่องจากในข้อเท็จจริง แม้นายเชาวลิตมีสถานะเป็นผู้ต้องหา กระทำความผิดในคดีต่าง ๆ ตามที่ศาลมีคำพิพากษา แต่ในส่วนที่เจ้าตัวได้ร้องขอความเป็นธรรม ถือว่านายเชาวลิตก็เป็นผู้เสียหายในประเด็นนั้น ๆ เพราะเขาก็ถือว่าตนเองได้ถูกละเมิด แต่ยืนยันว่าจนถึงตอนนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานในกรณีที่ทนายเดชาจะเข้าพบนายเชาวลิตในเรือนจำฯ” ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ระบุ

ต่อข้อถามว่า ทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้มีการมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมเข้าพบนายเชาวลิต ภายในเรือนจำกลางบางขวาง เพื่อสอบถามข้อมูลตามที่เจ้าตัวได้ร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีนี้ทางเรือนจำฯ ได้รับการประสานจากดีเอสไอหรือยัง รวมถึงได้มีการเตรียมห้องสอบสวนอย่างไร หรือไม่นั้น นายยุทธนา ยอมรับว่า ตามที่ รมว.ยุติธรรม ได้มีข้อสั่งการเรื่องการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งตนเองได้รับรายงานเอกสารจากดีเอสไอ ทราบว่ามีการประสานขออนุญาตเข้าพบนายเชาวลิต ทองด้วง ภายในเรือนจำกลางบางขวาง ในวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. 67 โดยตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมผู้ต้องขังดูแลรับผิดชอบและอำนวยความสะดวกในกระบวนการสอบสวนดังกล่าว แต่ตนจะไม่ทราบในประเด็นการสอบปากคำ เนื่องจากในกรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนหน้าที่ของตนคือการวางนโยบายเรื่องการยกระดับความปลอดภัยระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องขังและภายหลังการสอบปากคำผู้ต้องขัง เพราะการที่นายเชาวลิต ประสงค์จะให้ข้อมูลสำคัญต่อพนักงานสอบสวน ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าอาจจะไปสร้างแรงกระเพื่อมต่อผู้ที่จะเสียประโยชน์ในส่วนนี้ได้ ตนจึงต้องวางมาตรการเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร ที่สังคมอาจจับตาเรื่องการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการให้ยารักษาโรค หรืออะไรก็ตามที่จะเข้าถึงตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการควบคุมของราชทัณฑ์ และการให้ผู้ต้องขังได้พบกับทนายความคือสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้มีโอกาสต่อสู้คดี

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ตนได้มีการเตรียมห้องสอบสวนให้กับดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นห้องเฉพาะสำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนต้องเข้าสอบปากคำผู้ต้องขัง ซึ่งภายในห้องจะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยดูแลสอดส่องเรื่องความปลอดภัย และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอยู่ด้วย ดังนั้น ในข้อกังวลเรื่องการจะก่อเหตุหลบหนี หรือทำร้าย หรือก่อความไม่สงบจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะมีผลระหว่างการสอบปากคำภายในเรือนจำหรือไม่นั้น ตนอยากเรียนว่ามีผลทั้งหมด เนื่องจากอาณาเขตพื้นที่เรือนจำเช่นนี้ จะต้องไม่มีการบังคับข่มขู่มิชอบ หรือทำร้ายร่างกาย แต่สิ่งสำคัญ คือ การเข้าสอบปากคำของดีเอสไอในครั้งนี้เกิดมาจากกรณีที่นายเชาวลิตได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงยุติธรรม กล่าวคือ ผู้ถูกสอบสวนมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การในประเด็นใดก็ได้ตามที่เขารู้สึกว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับคณะเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ ให้เข้าไปพบและสอบสวนข้อมูลสำคัญจากนายเชาวลิต หรือ แป้ง นาโหนด ภายในเรือนจำกลางบางขวาง ตามที่เจ้าตัวมีการร้องขอความเป็นธรรม ทราบว่ามีทั้งเจ้าหน้าที่จากกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่จากกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ (กตท.) เดินทางเข้าพูดคุยเพื่อจะได้นำรายละเอียดประเด็นต่าง ๆ ไปตรวจสอบตามขั้นตอน ก่อนพิจารณาว่าจะมีข้อมูลส่วนใดหรือไม่ เช่น กรณีเครือข่ายยาเสพติดสำคัญ เป็นต้น ที่อาจเข้าลักษณะแนบท้าย พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 รับเป็นคดีพิเศษตามขั้นตอนต่อไป.