นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งผลการคัดเลือกเอกชน และส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ หาก ครม. เห็นชอบ รฟม. จะสามารถลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มดำเนินโครงการได้ทันที โดยตามแผนงานเบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนประมาณเดือน ต.ค. 67 และเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค. 71

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังมีคดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC  ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการ ม.36  กรณีการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต จะมีผลกระทบต่อการพิจารณาของ ครม. หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการพิจารณา และการลงนามสัญญา เพราะเป็นการฟ้องส่วนบุคคล และก่อนหน้านี้สมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ทาง รฟม. ได้เสนอผลการคัดเลือก และร่างสัญญาดังกล่าวเข้ามายัง ครม. แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เรื่องนี้ยังฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ขอให้รอศาลฯ ตัดสินก่อน หากตัดสินมาแล้วก็เดินหน้าต่อได้

โดยในการประชุม ครม. ครั้งนั้น ตนก็เสนอในที่ประชุมด้วยว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นมาแบบนี้ ตนก็ขอรอคำตัดสินของศาลฯ ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยเช่นกัน จึงต้องมีการถอนเรื่องนี้ออกไป แต่ในเมื่อปัจจุบันศาลปกครองสูงสุด ตัดสินเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเสนอเรื่องกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม ครม. อีกครั้งได้ โดยรัฐมนตรีทุกคนใน ครม. ก็ยังคงสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เวลานี้เรื่องที่น่าห่วงที่สุดคือ รัฐบาลมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จนแล้วเสร็จ 100% แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เพราะติดเรื่องปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ดังนั้นเมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรเดินหน้าต่อ และควรเปิดให้บริการโดยเร็วที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดประมูลโครงการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท และ 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ บริษัท ขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท โดย รฟม. ประกาศให้ BEM ชนะประมูล เนื่องจากผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐสนับสนุน ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด.