เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น” ในงาน BKK EXPO 2024 เมืองเปลี่ยนได้เพราะคุณ โดยมีพญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ รองประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกำแพงพักใจ (WOS) ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพิ่มความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสวนา ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย

ปัจจุบันสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน ภาพรวมประเทศไทย กรมสุขภาพจิตมีการเฝ้าสังเกตุและติดตามสถานการณ์มาตลอด เด็กวัยเรียนพบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น พบปัญหาพฤติกรรมคือ สมาธิสั้น และซึมเศร้า ปัญหาต่อมาคือการใช้ความรุนแรงทางการกระทำและคำพูด การบูลลี่ในโรงเรียน นอกจากนี้ยาเสพติดก็เป็นปัญหาเช่นกัน

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายดูแลสุขภาพจิตเด็กและเชื่อมโยงกับเครือข่าย โดยมีเครือข่ายที่ทำแอปพลิเคชัน ทำให้เด็กหรือคนที่มีภาวะเครียดมีเพื่อนคุยและได้คุยกับนักจิตวิทยา ทาง กทม. ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและสำนักอนามัยมีจิตแพทย์เพียง 25 คน เมื่อมีแอปพลิเคชันถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เราก็รับเป็นหน่วยส่งต่อ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ปรากฏว่ามีภาวะเสี่ยงซึมเศร้าประมาณ 20,000 คน และอายุ 15 – 25 เป็นอัตราที่คนเครียดมากที่สุด ดังนั้นจะทำยังไงให้เด็กเครียดน้อยลง เราจึงมุ่งไปที่โรงเรียนเปิด sandbox ใช้กลไกเติมเต็มดูแลเด็กพยายามในทุกมิติที่เราทำได้ รวมถึงจะเข้าไปในชุมชนเพื่อขยายการดูแลสุขภาพจิตเด็กอีกด้วย

“เวลาเราพูดเรื่องสุขภาพจิต อาจจะวิ่งหานักจิตวิทยา หรือครู แต่สวน 15 นาที ที่กทม. ทำ ก็เพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้เช่นกัน พยายามหากิจกรรมผ่านโครงการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเอาความทุกข์ออกจากชีวิตบ้าง แม้จะเล็กน้อย แต่บางครั้งก็ลดความเครียดได้ในช่วงเวลาหนึ่งก็ยังดี และกทม. จะทำงานกับเครือข่ายให้เป็นระบบมากขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน กทม.” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ด้าน มูลนิธิกำแพงพักใจ (WOS ) ช่วยพลักดันให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงช่องทางการให้คำปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยกับครูหรือครอบครัว หรือมีปัญหาในการเข้าถึงช่องทางทั่วไป เช่น โรงพยาบาล หรือสายด่วนต่าง ๆ โดยให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Ooca (อูก้า) ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมาให้บริการเด็กและเยาวชนอายุ 15 – 25 ปี ไปแล้วกว่า 4,000 คน ซึ่ง 50% เป็นเด็ก กทม.

และเนื่องจากจิตแพทย์มีจำนวนจำกัด Sati App จึงเป็นอีกหนึ่งแอปพลิชันที่พื้นที่ปลอดภัยของทุกเพศทุกวัย สามารถปรึกษาปัญหาทางสุขภาพใจหรือใครมีภาวะความเครียด จะมีผู้รับฟังโดยอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมให้บริการฟรี 24 ชม. ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่อายุ 21 – 25 และเป็นคน กทม. เช่นกัน.