เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำและดำเนินการเพื่อให้มีการเผยแพร่และจำหน่ายหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นางสุกัญญา งามบรรจง ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำหนังสือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนจากองค์การค้าของ สกสค. ผู้อำนวยการหรือผู้แทนสำนักของ สพฐ. และผู้เกี่ยวข้อง รวม 37 คน

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติทุกปี เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมฉลองวันสำคัญนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 พบว่าได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป รวมถึงเสียงสะท้อนที่ได้แนะนำติชมเข้ามา ซึ่งคณะกรรมการจะนำไปปรับปรุงการจัดทำหนังสือให้ดียิ่งขึ้นต่อไป จากนั้นได้มีการพิจารณาวางแผนการดำเนินงานการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 อาทิ การกำหนดหัวข้อการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการจัดทำหนังสือฯ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนส่งผลงานเพื่อคัดเลือกตีพิมพ์ ได้แก่ ภาพปกหนังสือ ชื่อหนังสือ และผลงานเขียน ในลักษณะของเรื่องเล่า เรื่องสั้น การ์ตูนช่อง บทร้อยกรอง ซึ่งผลงานที่ได้รับการคัดเลือกตีพิมพ์ ผู้ส่งผลงานจะได้รับทุนการศึกษาและเกียรติบัตรจาก สพฐ. รวมถึงกำหนดคำสำคัญในการเสนอผลงานของนักเรียน บทความพิเศษภายในเล่ม และปฏิทินการดำเนินงาน เป็นต้น

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ ควรดำเนินงานให้ครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนด เพื่อให้หนังสือวันเด็กแห่งชาติเป็นหนังสือที่ใช้สำหรับการปูพื้นฐานการรักการอ่านและนำสู่การคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้เด็กและครูอยากอ่านและนำไปใช้ประโยชน์ จนสามารถพัฒนาสู่การเขียนที่มีประสิทธิภาพได้ โดยให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษานำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการคัดเลือกผลงานนักเรียน มาเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียน เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่าเรื่อง การเขียนเรื่อง การวาดภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การตีพิมพ์ลงในหนังสือวันเด็กแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมความฉลาดรู้เพื่อยกมาตรฐานการอ่าน การเขียน ตามแนวทาง PISA ทั้งระบบ ในทุกช่วงวัย พร้อมทั้งเพิ่มการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน เห็นความสำคัญของหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ในแง่ของความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งถือเป็นเวทีที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถและต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงาน เกิดการพัฒนาการอ่าน เพื่อปูพื้นฐานการรักการอ่าน และนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ต่อไป

“การกระตุ้นให้เด็กรักการอ่าน ด้วยหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 นี้ นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการอ่านแล้ว ยังทำให้เด็กได้รับสาระความรู้รอบตัวที่น่าสนใจไปพร้อมกัน เด็กๆ จะได้อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ ทันสมัย อ่านสนุก เหมาะสมกับวัย และยังเปิดเวทีให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการส่งผลงานเข้ามาตีพิมพ์ลงในเล่มด้วย เป็นการส่งเสริมการอ่านอย่างรอบด้าน สนุกและได้ความรู้ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนในด้านการอ่าน การเขียน เมื่อนักเรียนพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนดีขึ้น สามารถจับใจความสำคัญได้ จะส่งผลให้การเรียนในวิชาอื่นๆ ดีขึ้นตามไปด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว