เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ หรือ “นาซา” ได้เผยแพร่ข่าวที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักดาราศาสตร์และผู้ที่สนใจปรากฏการณ์แห่งดวงดาวทั่วโลก โดยระบุว่า จะมีเหตุการณ์ดาวแคระขาวระเบิด หรือการเกิดนวดารา (Nova) ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากโลกด้วยตาเปล่า

ดร.รีเบคาห์ ฮอนเซลล์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ช่วยโครงการวิจัยที่ศูนย์กอดดาร์ด สเปซไฟลต์ ของนาซา ในเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมริแลนด์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้น่าตื่นเต้นมาก โดยเฉพาะเมื่อคิดว่ามนุษย์จะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบชัด ๆ เหมือนได้นั่งดูอยู่แถวหน้าสุด

จุดเกิดนวดาราครั้งนี้ คือระบบดาวคู่ T Coronae Borealis (T CrB) ในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ หรือในชื่อที่เรียกง่ายกว่าว่า “ดาวลุกโชน” (Blaze Star) ดาวคู่นี้อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 3,000 ปีแสง ประกอบด้วยดาวแคระขาวขนาดพอ ๆ กับโลก กับดาวยักษ์แดงซึ่งเป็นดาวฤกษ์ในช่วงท้ายของวิวัฒนาการแห่งดาว โดยที่แรงโน้มถ่วงจากดาวแคระขาว กำลังดึงเอาไฮโดรเจนจากดาวยักษ์แดงอย่างช้า ๆ

ภาพจำลองการระเบิดของนวดารา

เมื่อพื้นผิวของดาวแคระขาวมีปริมาณสะสมของไฮโดรเจนที่ได้รับจากดาวยักษ์แดงมากพอ ก็จะกลายเป็นการจุดชนวนการระเบิดแบบเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชันครั้งใหญ่ ซึ่งจะก่อให้เกิดแสงสว่างจ้าในอวกาศ

อย่างไรก็ตาม การระเบิดของนวดารานั้น เป็นคนละแบบกับการระเบิดของมหานวดารา (Supernova) ซึ่งจะเป็นการระเบิดครั้งสุดท้ายในช่วงชีวิตของดาวฤกษ์ และจะทำให้มวลของดาวหายไป กลายเป็นกลุ่มก๊าซ แสงจากการระเบิดมหานวดาราจะสว่างจ้ายิ่งกว่านวดาราหลายพันล้านเท่า

แต่นวดารานั้น เมื่อเหตุการณ์ระเบิดจบลง ดาวแคระขาวจะยังคงอยู่ ไม่ได้สูญสลาย และรอคอยดูดกลืนมวลก๊าซจากดาวเพื่อนบ้านของมัน สะสมไว้จนกระทั่งได้ปริมาณมากพอที่จะระเบิดครั้งต่อไป ซึ่งสำหรับดาวลุกโชนแล้ว เหตุการณ์นี้จะเกิดซ้ำทุก 80 ปี และจะระเบิดต่อไปอีกหลายร้อยหลายพันปี

เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะมีการระเบิดของนวดาราสักครั้งหนึ่ง การระเบิดที่กำลังจะมาถึงจึงเป็นโอกาสที่หาได้ยากและไม่ควรพลาดสำหรับนักดาราศาสตร์

แม้ว่า ณ เวลานี้ ทางนาซายังไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดของการเกิดนวดาราครั้งนี้ได้ แต่ก็รายงานว่า เราจะสามารถมองเห็นดาวลุกโชนบนท้องฟ้าได้ในบางช่วงเวลาของเดือนนี้ พร้อมทั้งประเมินว่า คนบนโลกจะมองเห็นปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะกินระยะเวลาราว 1 สัปดาห์

ข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทยระบุว่า กลุ่มดาวมงกุฎเหนือนั้น เป็นกลุ่มดาวที่มีขนาดเล็ก เรียงตัวกันในลักษณะคล้ายครึ่งวงกลม อยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) กับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส เรามองเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ตลอดทั้งคืนในเดือนพฤษภาคม ส่วนในเดือนมิถุนายน จะมองเห็นกลุ่มดาวนี้ลับขอบฟ้าเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ขณะที่ในเดือนกรกฎาคม กลุ่มดาวนี้จะลับขอบฟ้าเมื่อเวลา 02.00 น.  

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : NASA/Conceptual Image Lab/Goddard Space Flight Center