ก้าวแรกของการเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นับย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) วาระที่ 65 มีการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14

‘วิษณุ’ แถลงจบศึก 2 บิ๊กสีกากี ส่ง ‘บิ๊กต่อ’ กลับนั่งผบ.ตร. ‘บิ๊กโจ๊ก’ ยังไม่ออกราชการ

ช่วงครึ่งแรกของการประชุมกลับมีกระแสข่าวปรากฏว่าที่ประชุมเห็นควรให้เลื่อนวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ออกไปเป็นเดือน ต.ค. 2566 และให้แต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 1 รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ไปก่อน

กระทั่งเข้าสู่ช่วงบ่ายวงประชุมช่วงเช้ามีทิศทางเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าควรเดินหน้าจัดการวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้การบริหารงาน ตร.ราบรื่น ไม่ติดขัด จึงนำมาสู่การลงมติ 9 ต่อ 1 เสียง เลือกให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนที่ 14

แต่นี่อาจจะไม่ใช่ความสำเร็จที่สวยงามสักเท่าไร เพราะก่อนหน้านี้เพียงแค่ 4 วัน มีสงครามครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับ 1 ในแคนดิเดตที่วงการสีกากีเรียกว่าเป็นการเตะตัดขากับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 2 ในขณะนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 25 ก.ย. 2566 ตำรวจยกกำลังบุกค้นบ้านพัก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จากข้อกล่าวหาเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ที่พบว่าลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีชื่อพัวพันจนลุกลามมาถึงบ้านของนายตัวเอง

ปฏิบัติการนี้ถูกมองว่าเป็นเชื้อไฟมากกว่าการจับผู้ต้องหา เพราะเพียงไม่กี่วันจะมีการเลือกผู้นำขององค์กรตำรวจ สังคมจึงตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นเกาเหลาชามโตของคนที่อยากเป็น ผบ.ตร.หรือไม่

ดังนั้น เมื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. จึงเหมือนเป็นการเฉลยว่าคู่ขัดแย้งของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คือใคร แต่ไม่ทันที่ไฟขัดแย้งจะโหมไปมากกว่านี้ กลับมีภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ โอบเอวกับ ผบ.ตร.คนใหม่ กระจายทั่วโซเชียลสยบความขัดแย้ง พร้อมการแสดงความยินดี น้อมรับนโยบาย ผบ.ตร.คนใหม่ และย้ำว่า “เป็นพี่น้องที่รักกันดี ไม่เคยมีปัญหาอะไรต่อกัน”

กระทั่งเดือน ก.พ. 2567 วี่แววของความขัดแย้งกลับมาให้สั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ในขณะนั้นรื้อสำนวนคดีเว็บพนันที่มีชื่อลูกน้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร่วมด้วยจาก ป.ป.ช. กลับมาที่ ตร. เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนเอง ทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องออกโรงแถลงยืนยันความบริสุทธิ์ตัวเองกับลูกน้อง พร้อมฝากไปถึงตำรวจยศนายพลให้ออกมาเปิดหน้าสู้แทนลูกน้อง

พายุระหว่าง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ดำเนินเรื่อยมา มีวาทกรรมระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายออกมาให้เห็น ให้ฟังไม่หยุดหย่อน ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในองค์กรของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หมดความเชื่อมั่น จนนำไปสู่การออกคำสั่งหยุดให้ข่าวของทั้งคู่จาก ผบ.ตร. เพื่อไม่ให้ ตร. เสื่อมเสียไปมากกว่านี้

สุดท้ายนำมาสู่การเรียกสงบศึกของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้า ก่อนช่วงสายวันเดียวกันทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พากันจูงมือร่วมโต๊ะแถลงข่าวด่วนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันไม่เคยทะเลาะหรือบาดหมางกัน ก่อนจบด้วยท่าโอบเอวยิ้มหวาน คล้ายภาพสงบศึกรอบแรก

แต่ยังไม่ทันข้ามวัน ช่วงบ่ายวันนั้นเองได้มีคำสั่งสายฟ้าฟาดจากนายกฯ ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกฯ เป็นเวลา 60 วัน พร้อมแต่งตั้ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. และสร้างชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วย นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อดีตรองอัยการสูงสุด และ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรอง ผบ.ตร

โดยทาง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ออกมาน้อมรับคำสั่งที่ดูเหมือนการลงโทษไปในตัว เนื่องจากไม่สามารถบริหารความขัดแย้งในองค์กรตัวเองได้ ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เองทำได้แค่การน้อมรับคำสั่ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่ถูกเด้ง ยินดีทำงานในทุกบทบาทที่มอบหมายให้

ความนิ่งสงบผ่านไปได้เพียง 6 วัน กระทั่งนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ปรากฏตัวประกาศเดิมพันด้วยชีวิตขอเปิดโปงเส้นทางการเงินของนายตำรวจระดับสูง สังคมอดไม่ได้ที่จะต้องถามว่าการพลีชีพครั้งนี้ของนายษิทรารับคำสั่งจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่านายษิทรา ปฏิเสธอย่างทันควันว่า ไม่ใช่อย่างแน่นอน สำทับว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้โทรศัพท์มาห้ามตัวเองด้วยซ้ำ

วันเวลาผ่านไปครบกำหนด 60 วัน ที่ส่ง 2 นายพลออกนอกรั้ว ตร. คือ วันที่ 19 มิ.ย. 2567 นายกฯ ได้มอบให้มือกฎหมายอย่าง นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นผู้เฉลยผลสอบของคณะกรรมการข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับมานั่ง ผบ.ตร. เช่นเดิม ก่อนสิ้นอายุราชการในปี 2567 นี้