สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจนำไปสู่การพิพาทกันระหว่างรัฐบาลปารีส กับฝ่ายบริหารอียูในกรุงบรัสเซลส์ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดของฝรั่งเศส ในวันที่ 30 มิ.ย. และ 4 ก.ค. นี้ เนื่องจากฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ต่างให้คำมั่นว่าจะใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งที่ประเทศจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย

อีซี ระบุว่า นอกเหนือจากเบลเยียม, อิตาลี, ฮังการี, มอลตา, โปแลนด์ และสโลวาเกีย ฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการการขาดดุลงบประมาณเกินเพดาน (อีดีพี) ซึ่งเป็นกระบวนการบังคับให้ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และต้องเจรจากับฝ่ายบริหารอียูในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อทำให้สถานการณ์การคลังกลับสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ อียูชี้ว่า เจ็ดประเทศดังกล่าว มีการขาดดุลภาครัฐสูงกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบด้านการคลังของสหภาพ

อนึ่ง มาครงทำให้ฝรั่งเศสตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากเขาตัดสินใจยุบสภา และประกาศการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด หลังพรรคเรอแนซ็องส์ พ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อฝ่ายขวาจัดในการเลือกตั้งสภายุโรปในส่วนของฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ นายบรูโน เลอ แมร์ รมว.การคลังฝรั่งเศส กล่าวเตือนว่า ฝรั่งเศสอาจเผชิญกับวิกฤติหนี้สิน หากแผนการใช้จ่ายของฝ่ายขวาจัด หรือพันธมิตรฝ่ายซ้ายชุดใหม่ ถูกนำมาใช้.

เครดิตภาพ : AFP