เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายกฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ยื่นร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. … เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศ และลมหายใจของประชาชน ต่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1  

นายกฤษฎา กล่าวว่า  ตนและคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เตรียมเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. … เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมทั้งขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายด้วยเพื่อป้องกันวิกฤติโลกร้อนที่จะนำไปสู่ความเสียหายในด้านต่างๆ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน พร้อมหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและเป็นกฎหมายที่ดีของประเทศชาติ และเป็นกฎหมายฉบับของประชาชนต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น มีเจตนารมณ์มุ่งให้รัฐแก้ปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เร่งลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่เป็นภาคส่วนหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่มีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อประชาชน ชุมชน กลุ่มเปราะบาง และธรรมชาติ  

นายกฤษฎา กล่าวต่ออีกว่า เรามีเจตนารมณ์ที่จะมุ่งฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศ โลกร้อนและรักษาธรรมชาติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศเพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ และเน้นที่หลักการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ อันเป็นไปตามหลักสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน โดยกำหนดสิทธิไว้ถึง 14 ประการ ครอบคลุมสิทธิทุกกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง และสิทธิในเนื้อหาและกระบวนการ และกำหนดหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิทั้งหมด 

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เปิดการประชุมสภามาในสมัยนี้ก็มีกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่สภาหลายฉบับ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ากฎหมายที่มาจากภาคประชาชน และประสบผลสำเร็จไปแล้วคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดังนั้นจึงจะเห็นได้ชัดว่ากฎหมายที่ประชาชนได้ริเริ่มเสนอนั้น สามารถเป็นปากเป็นเสียงและนำไปสู่การแก้ไขในมาตราที่สำคัญได้ อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับร่างกฎหมายฉบับประชาชน เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ และมั่นใจว่าประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นด้วยกับการมีร่างกฎหมายนี้ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ในกระบวนการต่อไป.