เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่า  ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเดือนมี.ค.2567 ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ หรือไม่พอใจต่อสภาพที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อประมวลเรื่องราวว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมีความเป็นมาอย่างไร โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหลายชุดมาช่วย และได้สอบพยานในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา รวม 50 กว่าคนซึ่งรวมถึงพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ด้วย

‘วิษณุ’เตรียมแถลงผลสอบ ‘2 บิ๊กตำรวจ’พรุ่งนี้

 นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ คณะกรรมการดังกล่าวตรวจสอบเสร็จสิ้น และได้ข้อสรุปดังนี้ 1.ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในตร. จึงมีความขัดแย้งในระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุเดียวกัน หรือจากคนละเหตุแล้วบังเอิญมาประจวบกันด้วยกัน จนเกิดเป็นคดีต่างๆที่มีการฟ้องร้องหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานภายนอกและภายในตร. 2.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นทีมงานของทั้ง 2 คนด้วย โดยมีคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้ อาทิ คดี“เป้รักผู้การ” 140 ล้าน คดีกำนันนก คดีมินนี่ พนันออนไลน์ คดีเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค และมีคดีย่อยๆอีก 10 คดี ซึ่งกระจายกันอยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ และในศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 ทั้งนี้ความขัดแย้งบางเรื่องเป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น แต่บางเรื่องเกิดขึ้นเกือบ 10 ปีมาแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นคดีเหล่านี้ขึ้นมา

นายวิษณุ กล่าวว่า 3.ต้องให้มีการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขารับผิดชอบไป บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจ อัยการ ศาล ให้ว่ากันไปตามปกติ 4.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจขององค์กรอิสระ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ให้ป.ป.ช.รับไปดำเนินการ ซึ่งเขาไปแล้ว และเวลานี้คดีทั้งหมดมีหน่วยงานเจ้าของคดีรับดำเนินการหมดแล้ว ไม่มีคดีตกค้างอยู่ที่ตร. 5.กรณีของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ที่ได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 ให้กลับไปปฏิบัติราชการที่ตร.ในตำแหน่งและหน้าที่เดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้เรียกพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงวันที่ 18 เม.ย. มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและมีคำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน ดังนั้นขณะนี้จึงสมควรส่งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผบ.ตร. เพราะไม่มีอะไรให้สอบสวนแล้ว ส่วนคดีต่างๆจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นไปการดำเนินการขององค์กรนั้นๆ ทั้งป.ป.ช. และศาล ส่วนจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของตร.ดำเนินการเอง

นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการฯได้รายงานนายกฯด้วยว่าจากการที่มีคดีดังๆ และคดีทุจริตหลายคดีเข้ามาประดังพร้อมๆกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ความยุ่งยากและสับสนว่าคดีไหนควรอยู่ในอำนาจสอบสวนของหน่วยงานใด คณะกรรมการฯ จึงเสนอแนะต่อนายกฯว่าให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจว่าเรื่องลักษณะไหนต้องอยู่ในอำนาจของหน่วยงานใด เพื่อเป็นคู่มือแก่ผู้เกี่ยวข้องไว้ดำเนินการให้ถูกต้อง และป้องกันปัญหาระหว่างหน่วยงานต่างๆอีก  สำหรับการบ้านจากนายกรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.ให้กระทรวงยุติธรรมและสคก.ดำเนินการตรวจสอบเขตอำนาจการสอบสวนคดีอาญาต่างๆ 2.ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีส่งตัวพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งผบ.ตร. 3.การดำเนินการอื่นๆ เป็นเรื่องของตร.ที่จะพิจารณาว่าจะต้องสอบวินัยหรืออื่นๆ

  นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนกรณีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน คือสั่งตามแบบที่เคยสั่งในอดีต ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2505 แต่ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เพิ่มบทบัญญัติว่าในกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนซึ่งกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น การออกคำสั่งดังกล่าวจะต้องทำตามคำแนะนำหรือเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น แต่คำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน ได้ทำให้เกิดปัญหาและนำไปสู่การส่งเรื่องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้มีมติเอกฉันท์ว่าคำสั่งดังกล่าวที่ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้มาจากคำแนะนำหรือความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ทั้งที่เป็นเรื่องส่งกระทบกับสิทธิและหน้าที่ต่างๆ รวมถึงโอกาสการที่จะเลื่อนตำแหน่งของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงให้ตร.นำไปแก้ไขหรือทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นสถานะของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังอยู่ระหว่างการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ต้องตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อยู่ระหว่างพิจารณากรณีดังกล่าว หลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นคำร้องไว้

“กรณีของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ใช้คำว่า‘ส่งกลับไปไม่ได้’ เพราะกลับไปตร.ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.แล้ว แต่คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นการสั่งตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับเก่า แต่พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มบทบัญญัติในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องกระทำโดยคำแนะนำหรือการเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ใช้คำว่า ‘ส่งกลับไปได้’ ส่วนจะไปวันใดแล้วแต่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้ท่านนายกฯยังไม่เซ็นคำสั่งออกมา จากนี้ไปเชื่อว่าสถานการณ์ในตร.จะเบาบางลง ทั้ง 2 ฝ่ายได้พบปะพูดจากันมากพอสมควร คณะกรรมการฯก็เข้าไปไกล่เกลี่ยบางเรื่องให้ แต่ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่การซูเอี๋ยหรือมวยล้มต้มคนดู ไม่ถือเป็นการล้างมลทิน ไม่ได้เป็นการฟอกขาว เพราะคดีทั้งหมดมีปักหลังทุกคน แต่ระหว่างนี้ให้กลับไปทำงาน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดการให้ได้โดยเร็วที่สุด ขอให้ไปแบ่งหน้าที่กันทำ”นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไปตร.จะเกิดความสงบเรียบร้อยในตร. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงจะจบ สงบลงไปได้ เพราะเขาคงจะปรองดองกันในการทำงานราชการ ส่วนที่มีอะไรกินใจกันคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และอีกไม่กี่เดือนจะมีการเตรียมหา ผบ.ตร.คนใหม่ แต่อย่างน้อยตอนนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก็หลุด และไม่เข้ามาเกี่ยวในวงจร ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายอ่อนลง แต่การจะให้หมดไปคงไม่ได้ เพราะความขัดแย้งบางเรื่องมีตั้งแต่ปี 2557

เมื่อถามว่าคำสั่งที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อนใครจะต้องรับผิดชอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำไม่ถูกก็ไปทำให้ถูก ส่วนผู้ลงนามในคำสั่งจะมีความผิดหรือไม่นั้น ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือดำเนินการโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีการเปลี่ยนแปลงและไปกลั่นแกล้งก็ถือว่ามีความผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังไม่หลุดออกจากตำแหน่ง ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “มีครับ ใครก็มีโอกาสขึ้นมาทั้งนั้นที่เป็น รอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า”  เมื่อถามว่า กรอบเวลาในการตรวจสอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีกำหนดไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ตรงกันข้ามบางเรื่องที่อยู่ใน ป.ป.ช.เขายังระบุไม่ให้นำมาพิจารณาเกี่ยวกับการโยกย้าย