เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกศ. ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ ติดตาม และจัดทำข้อเสนอแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษาของประเทศไทยในระดับนานาชาติ และทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลทางการศึกษาให้กับสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ International Institute for Management Development : (IMD) เพื่อใช้ในการคำนวณอันดับ แม้ในปีนี้อันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยจะไม่ขยับขึ้น แต่การจัดอันดับ IMD ในปี 2567 มีประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับเพิ่มขึ้นถึง 3 ประเทศ ก็ถือได้ว่าประเทศไทยยังสามารถรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี โดยตัวชี้วัดด้านการศึกษายังเป็นตัวชี้วัดเพียงกลุ่มเดียวของปัจจัยหลักด้านโครงการพื้นฐานที่ประกอบด้วย Basic Infrastructure, Technological Infrastructure, Scientific Infrastructure, และ Education ที่อันดับไม่ลดลง ขณะที่กลุ่มตัวชี้วัดในด้านอื่นล้วนมีอันดับที่ลดลงทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวชี้วัดกลุ่มการศึกษามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดกลุ่มอื่น ๆ

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัดในแต่ละตัวพบว่า ประเทศไทยทำได้ดีในหลายตัวชี้วัด เช่น งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยมีอันดับที่ดีขึ้นถึง 19 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 32 และอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ดีขึ้นถึง 15 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 43 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเอาจริงเอาจังและเกาะติดงานมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยตัวชี้วัดงบประมาณด้านการศึกษา สกศ. ได้พยายามพัฒนาความสมบูรณ์ของข้อมูลมาโดยตลอดจากปี 2564 ที่อยู่ในอันดับ 59 มาถึงปีปัจจุบันมาอยู่ที่อันดับ 32 ซึ่งดีขึ้นถึง 27 อันดับ โดยเกิดจาก สกศ. ได้สร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สภาพัฒน์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จึงทำให้ตัวชี้วัดด้านการศึกษาดีขึ้นเป็นจำนวนมาก

“สกศ. ได้วิเคราะห์และรายงานผลผล IMD ด้านการศึกษาให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน รับทราบ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน มอบหมายให้ สกศ. วางแผนการดำเนินการว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานใด และต้องดำเนินการเช่นใดบ้าง จึงจะทำให้ผลการจัดอันดับในปีหน้าขยับดีขึ้น โดยให้นำเสนอแผนการทำงานในที่องค์กรหลักฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเราหวังว่า การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศในระดับนานาชาติ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยมีความยั่งยืน และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” ดร.อรรถพล กล่าว