เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาตามโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ พิซา ปี 2025 เพราะเท่าที่รับทราบข้อมูลพบว่าการประเมินพิซาในปีถัดไปจะมีความแตกต่างของการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ โดยเน้นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ในการจัดการกับประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนขอให้ทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ไม้ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้การประเมินพิซาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้รับรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียน ตามแนวทางการประเมินพิซาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้มีการขยายผลการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ในระดับเขตพื้นที่ลงสู่สถานศึกษา โดยการพัฒนาครูแกนนำ 1,400 คน เพื่อขยายผลไปสู่ครู 3 โดเมน จำนวน 27,397 คน ใน 245 เขต 9,214 โรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ในระดับชั้นเรียน ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนำผลการสะท้อนการทำแบบทดสอบ Computer Based Testing ซึ่งในขณะนี้มีนักเรียนที่เข้าสู่ระบบ Computer Based Test (PISA Style) จำนวน 208,268 คน โดยเป้าหมายของการนำนักเรียนเข้าสู่ระบบนั้นอยู่ที่ 500,000 คน

“สพฐ. ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จในการยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ที่สูงกว่า OECD ของโรงเรียนบ้านหลังเขาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาญจนบุรี เขต 4 พบว่า สิ่งที่ทำให้ผลการสอบมีคะแนนสูงขึ้นมาจากผู้บริหารเห็นความสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ครูเติมเต็มการคิดวิเคราะห์ ให้เทคนิคและแนวทางในการอ่านขั้นสูง นักเรียนที่ผ่านแบบทดสอบตามแนวทางพิซา มีการ “เน้น ซ้ำ ย้ำ ทวน” ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ที่ประชุมได้รายงานขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยของสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ดำเนินการเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

อย่างไรก็ตาม IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ รวม 67 ประเทศ ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 และมีอันดับด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 54 ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับดีที่สุด 3 อันดับแรก คือ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ และอัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนระดับประถมศึกษา ตัวชี้วัดที่มีการพัฒนามากที่สุด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา และดัชนีมหาวิทยาลัย ภาพรวมของด้านการศึกษา 2 ปีย้อนหลัง มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ผลการทดสอบ พิซา ทั้ง 3 ด้าน ความคิดเห็นต่อทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้เท่าทันระดับสากล ซึ่งจากผลการจัดอันดับนั้นสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนามาโดยตลอดและมีด้านที่ต้องเร่งพัฒนา การที่จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต้องอาศัยการพัฒนาในการทำงานอย่างก้าวกระโดดมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากทุกประเทศล้วนมีการพัฒนาเช่นเดียวกัน