นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาและรองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคบ. อยู่ระหว่างการทบทวนและเปิดการรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลมอนลอว์ (Lemon Law) เพื่อกำหนดขอบเขตของกฎหมายให้แคบลง ครอบคลุมเฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ใหม่ที่ได้รับความชำรุดจากการขนส่งเท่านั้น ไม่รวมรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสอง และสินค้าอื่นๆ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ตีความหมายของกฎหมายนี้กว้างไป ครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ ร่วมด้วย สคบ. จึงเปิดการรับฟังความคิดเห็นและทบทวนตัวบทกฎหมายอีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในสัปดาห์นี้ และหากไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะนำเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณา ก่อนจะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับสาระสำคัญความรับผิดของผู้ขายที่มีต่อผู้ซื้อให้ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคที่จะมีสิทธิในการเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมสินค้า เปลี่ยนสินค้า ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญาได้ รวมทั้งให้ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิที่ผู้ให้เช่าซื้อมีต่อผู้ขายเรียกให้ผู้ขายรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ตนเช่าซื้อได้
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลของการออกกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายอย่างชัดเจนและเพียงพอ โดยเฉพาะกับสินค้าที่ผู้ซื้อไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ
จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า สิทธิของผู้ซื้อและผู้ขาย และความรับผิดของผู้ขายตามประเภทของสินค้าไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน อันจะเป็นการคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สคบ. จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ. นี้ขึ้น