การดื่มน้ำให้พอเพียงต่อความต้องการของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสุขภาพ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าน้ำที่เราดื่มนั้นมีที่มาจากไหน อย่างไร

ซาราห์ ลอว์วัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารจากเว็บไซต์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก “Storage Box Shop” ของอังกฤษ ออกมาเตือนว่าไม่ควรดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เช่น ในรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้

เธอให้เหตุผลว่าความร้อนจะทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลุดออกมาจากพลาสติกที่ใช้ทำขวดและผสมอยู่ในน้ำดื่ม จึงควรเก็บขวดน้ำไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพของเราเอง

สารเคมีที่อาจหลุดออกมาจากพลาสติกที่ใช้ผลิตขวดน้ำเมื่อได้รับความร้อนสูง ได้แก่ สาร BPA (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ที่ใช้บรรจุอาหารและน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังมีสารพาทาเลต (Phthalate) ที่มักจะผสมลงในพลาสติกเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและโปร่งใส

เมื่อสารเหล่านี้หลุดลงไปในน้ำและเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มเข้าไปก็จะก่อปัญหาทางสุขภาพ เช่น ทำให้ปวดท้อง, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ

ในบางกรณี การได้รับสารเคมีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย โดยมีกรณีศึกษาที่ได้ผลออกมาว่าพาทาเลตมีส่วนทำให้สมอง, ระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบสืบพันธุ์ของร่างกายผิดปกติ

นอกเหนือจากความร้อนจะทำให้สารเคมีที่หลุดออกมาขวดพลาสติกได้แล้ว น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกเองก็มีปัญหาเรื่องอนุภาคพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ โดยมีรายงานวิจัยพบว่า ในขวดน้ำดื่มขนาด 1 ลิตรจะมีไมโครพลาสติกอยู่ราว 240,000 หน่วย ขณะที่น้ำประปาในอังกฤษมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนโดยเฉลี่ยอยู่เพียง 5.5 หน่วย

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES