ภายหลังจากวุฒิสภาสมัยวิสามัญ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ กฎหมายอุ้มบุญ  ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขมาได้สักระยะ โดยเฉพาะในประเด็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ

ล่าสุดวันที่ 19 มิ.ย. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะที่ทุกหน่วยงานได้เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญเพื่อให้สอดคล้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมอยู่แล้ว คือ เดิมกฎหมายจะระบุว่าเป็นเพศชาย เพศหญิง เราก็จะแก้ไขเป็นคำว่า “สามี ภรรยา หรือคู่สมรส” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกองกฎหมาย สบส. ซึ่งจะมีการนัดหมายในปลายเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุ้มบุญ ในเดือนหน้า หากกรรมการอุ้มบุญเห็นชอบก็จะนำร่าง พ.ร.บ.นี้ไปทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็น และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเราทำคู่ขนานไปกับการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากแก้ไขเสร็จ ก็จะต้องมาแก้ไขแบบฟอร์มการขออุ้มบุญต่อไป เพราะในแบบฟอร์มเดิมก็จะมีการระบุคำนำหน้าว่า เป็นนาย นาง นางสาว ก็จะมาแก้ให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นๆ ที่มีการแก้ไข เช่น กฎหมายทะเบียนสมรส และกฎหมายอื่นๆ

“นี่คือส่วนที่เราแก้ไขให้สอดคล้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่วนเรื่องรายละเอียด หลักเกณฑ์การทำอุ้มบุญต่างๆ ก็เหมือนกับชาย หญิงเลยไม่มีปัญหา แต่ที่ยังติด ก็คือเราจะใช้คำว่า สามี ภรรยา หรือคู่สมรสในกฎหมายฉบับใหญ่ ส่วนกฎหมายลูกก็จะเป็นเรื่องคำขอตั้งครรภ์แทน อาจจะเป็นประเภทคู่สมรสเพศเดียวกันขอให้มีการตั้งครรภ์แทน ใครจะเป็นสามี ใครเป็นภรรยา ก็ต้องระบุในนั้นตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว แต่สิทธิในการขอให้มีการอุ้มบุญนั้นอาจจะต้องรออีกนิดหน่อย แต่ไม่นาน คาดว่าน่าจะทันใช้ในปีนี้” นพ.สุระ กล่าว

สำหรับการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.อุ้มบุญ จะมีหมวดที่ 3 การตั้งครรภ์แทน จะมีมาตรา 21 ภายใต้บังคับมาตรา 15 มาตรา 16 และมาตรา 18 การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนอย่างน้อยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี (2) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม (1) และ (3) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม (1) ในกรณีที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ (4) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือชายดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาข้อกฎหมาย มาตรา 21 ประกอบกับ ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558 ในประเด็น คุณสมบัติของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่า ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ และหมวด 4 ความเป็นบิดามารดาของเด็กและการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ