นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 678 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท และ 3.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน มิ.ย. 67 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติประมาณเดือน ก.ค.-ต.ค. 67

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตามแผนงานจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาทั้ง 3 โครงการได้เร็วสุดประมาณเดือน พ.ย. 67 เริ่มก่อสร้างปี 68 โดยช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 72 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ส่วนช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี จะใช้เวลาก่อสร้าง 60 เดือน หรือประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างดังกล่าว รัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งหมด โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และหารือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน รฟท. จะเร่งดำเนินการขออนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน โดยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด รฟท. ได้เร่งรัด รฟท. เรื่องการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน พร้อมอะไหล่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งรัดให้ดำเนินการ เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของ รฟท. ซึ่งหากมีทางคู่แต่ไม่มีขบวนรถมาให้บริการประชาชนก็จะไม่เกิดประโยชน์

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับภาพรวมวงเงินการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทนั้น มาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.ค่าน้ำมัน 2.ค่าแฟกเตอร์ F ค่าใช้จ่ายแฝงทางอ้อม อาทิ ค่าประกันภัย ค่าดอกเบี้ย ค่าภาษี ซึ่งเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่กรมบัญชีกลางคำนวณมาให้ และ 3.ค่าเวนคืนที่ดิน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับเรื่องการจัดหารถโดยสารฯ ใหม่นั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการจัดหารถโดยสารฯ ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณาแล้ว แต่ถูกตีกลับมา โดยให้ รฟท. พิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด อาทิ เรื่องความคุ้มค่าของการจัดหาฯ ต้นทุนในการจัดหารถ และสเปกของรถ ซึ่งเมื่อจัดทำรายละเอียดแล้วเสร็จ จะต้องเสนอบอร์ด รฟท. พิจารณา ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒน์พิจารณาต่อไป.