สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ว่าแหล่งข่าวในรัฐบาลแคนาดาเปิดเผยว่า ได้ระงับการขายแร่ธาตุหายาก ที่ขุดได้ทางตอนเหนือสุดของประเทศ ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในจีนเป็นครั้งแรก มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปราบปรามการลงทุนของจีนในเหมืองแร่ของแคนาดา”

ไวทัล เมทัลส์ ของออสเตรเลีย วางแผนที่จะขายแร่ให้กับเซิงเหอ รีซอร์สเซส ของจีน แต่นายโจนาธาน วิลคินสัน รมว.ทรัพยากร เข้ามา “อำนวยความสะดวก” แก่ข้อตกลงเพื่อให้แร่เหล่านี้อยู่แค่ในแคนาดา โดยสินค้าเหล่านั้นถูกขายในราคา 3 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 80 ล้านบาท) ให้กับสถาบันวิจัยซัสแคตเชวัน ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานแปรรูป

แคนาดามองว่า แร่ธาตุเหล่านี้คือ “ความมั่นคงของชาติ” และเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ในการลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากแร่หายากและแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ เช่น ลิเทียม, แคดเมียม, นิกเกิล และโคบอลต์ เป็นส่วนประกอบสำคัญในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม และเทคโนโลยีอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านการลงทุนและส่งออกมุ่งเป้าไปที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองอุตสาหกรรมแร่ธาตุสำคัญเป็นหลัก หลังรัฐบาลปักกิ่งมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,713 ล้านบาท) เพื่อกระตุ้นให้มีการขุดหาแร่ในท้องถิ่น และการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่

วิลคินสันระบุในแถลงการณ์ว่า แคนาดากำลัง “ดำเนินการเพื่อพัฒนาห่วงโซ่แร่ธาตุสำคัญภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ” เขากล่าวอีกว่า “เมื่อพูดถึงคำถามเกี่ยวกับการเงิน จากบริษัทเหมืองแร่ที่ดำเนินงานในแคนาดา คำตอบนั้นเพียงใช่แค่การลงทุนจากอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของเท่านั้น”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 นายฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ รมว.อุตสาหกรรมแคนาดาในเวลานั้น สั่งให้บริษัทแร่ของจีน 3 แห่งขายหุ้นในบริษัทแร่ของแคนาดา หลังรัฐบาลปรับกฎการลงทุนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอสอาร์จี ไมน์นิง ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล มีแผนย้ายที่ตั้งไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐบาล หลังมีการขายหุ้นเกือบร้อยละ 20 ให้กับบริษัทของจีน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ยกเลิกข้อตกลงกับบริษัทคาร์บอน วัน นิว เอเนอร์จี กรุ๊ป ของจีน เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หลังชองปาญออกมาเตือน ไม่ให้บริษัทละเมิดกฎหมายแคนาดา.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES