โดยเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2544 ยุครัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เสนอแนวคิดให้ คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ต้องล้มเลิกไป หลังจากเผชิญกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากสังคมในเวลานั้น แต่ต่อมายังมีหลายฝ่ายพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องนาน 23 ปี เพื่อให้คู่รักไม่ว่าเพศใดในประเทศไทย สามารถแต่งงานและจดทะเบียนสมรส พร้อมกับได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย จนกระทั่งมาเกิดขึ้นจริงได้ในปี 2567

แต่นี่เป็นการเปิดประตูบานแรกของสังคมไทยไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ เพื่อปรับตัวตามกฎหมาย และการเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเริ่มมีมากขึ้น

อย่างเช่นกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรค 2 ที่เป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัตินี้ให้สามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ที่ล่วงเกินภริยาได้ ไม่ว่าชู้เป็นเพศใด แต่ถ้าฝ่ายภรรยาจะฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากชู้ของสามี ฟ้องได้เฉพาะชู้ที่เป็นผู้หญิง ฟ้องชู้ที่เป็นผู้ชายไม่ได้ ซึ่งศาลฯ พิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรค 1 วรรค 2 วรรค 3 ที่ระบุว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลนั้นจะกระทำมิได้

และใน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มาตรา 49 ได้แก้ไขถ้อยคำใน ป.พ.พ.มาตรา 1523 ของเดิม เปลี่ยนเป็นกำหนดให้ คู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ที่ล่วงเกินคู่สมรสได้ ซึ่งทำให้ครอบคลุมทุกเพศ เรื่องนี้จึงแสดงถึงพัฒนาการที่ได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศของเรา

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลของ “เศรษฐา ทวีสิน” และมี พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ซึ่งได้รับปากกับชาว LGBTQA+ ว่าจะร่วมผลักดันกฎหมายอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ร่างกฎหมายรับรองเพศ ที่มีร่างของรัฐบาล ของภาคประชาชน และของพรรคก้าวไกล โดยทั้งหมดมีหลักการใกล้เคียงกัน คือห้ามผ่าตัดเลือกเพศเด็กทารกที่เกิดมาเป็นลักษณะเพศกำกวม และบุคคลข้ามเพศใช้สิทธิขอจดทะเบียนเปลี่ยนคำนำหน้านามและใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงรายละเอียดหลายแง่มุม และเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจกับผู้คนในสังคมให้ชัดเจนเช่นกัน

และยังมี ร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบอาชีพและการดูแลสุขภาพระยะยาวของผู้ค้าบริการทางเพศ (Sex Worker) แต่ยังมีคนบางส่วนคัดค้าน โดยคนที่ประกอบอาชีพนี้เกรงว่าการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายจะเป็นเหมือนการตีตรา ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้กลัวเรื่องการเก็บภาษี

นี่ถือเป็นความท้าทายของสังคมไทย และเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมของประชาชน.