เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยถึงสถานศึกษาในสังกัดทุกพื้นที่ รับมือสถานการณ์โควิดที่กลับมาในช่วงเปิดเทอมนี้ เน้นย้ำครูและผู้ปกครองดูแลผู้เรียนอย่างเคร่งครัด ปลูกฝังสุขอนามัยเด็กให้ติดเป็นนิสัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง การ์ดอย่าตก ร่วมเฝ้าระวังปกป้องผู้เรียนให้ปลอดภัย

โฆษก ศธ. กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยให้เห็นถึงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงในสัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 2 หมื่นราย ถึงตอนนี้จะมีวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่จบ แม้ว่าปัจจุบันอาการอาจไม่รุนแรง คล้ายเป็นหวัด มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่หากไม่ระวังอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้เรียนด้วยกัน หรือกระจายสู่กลุ่มเสี่ยงได้ง่าย คนที่ภูมิต้านทานต่ำอาจมีอาการปอดอักเสบจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการ์ดอย่าตก เพราะเรายังต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรคระบาดนี้อยู่

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำมาโดยตลอดถึงมาตรการดูแลสุขอนามัยที่ดีในสถานศึกษา จึงคาดหวังให้ครูและผู้ปกครอง กวดขันวินัยการรักษาความสะอาดกับผู้เรียน ยิ่งในช่วงเปิดเทอมนี้เป็นฤดูฝนผู้เรียนมีแนวโน้มภูมิต้านทานอ่อนแอมากขึ้น และที่ห่วงใยเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กเล็กที่เล่นกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม หากมีการทำกิจกรรมรวมกันเป็นหมู่มากบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่โล่งแจ้ง อาจจะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย จึงควรป้องกันทั้งในสถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว สถานที่แออัด การเดินทางร่วมกับผู้อื่นโดยรถสาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัส เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ใส่ใจการล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ และกักตัวแยกจากเพื่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบกลุ่ม

ฝากสถานศึกษากำชับมาตรการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า หากพบผู้เรียนที่มีอาการ ให้รีบแจ้งผู้ปกครองพาไปพบแพทย์ หรือหากพบการป่วยเป็นกลุ่มใหญ่ ให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที ด้วยเด็กเล็กอยู่ในช่วงวัยเรียนวัยเล่น ความสนุกอาจประมาทในการป้องกันเชื้อโรค ทำให้ไม่ได้ระมัดระวังในจุดนี้เท่าที่ควร ผู้ใหญ่อย่างครูหรือผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก ควรทำความเข้าใจอย่างมีเหตุผล ชี้แนะให้เด็กเข้าใจถึงผลที่ตามมา เพราะการเจ็บป่วยจนต้องหยุดเรียน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้รู้สึกว่าเรียนไม่ทันเพื่อนจนไม่อยากมาโรงเรียน

“นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากผู้เรียนของเรามีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี แน่นอนว่าจะส่งผลให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียนทุกวัน ได้เจอเพื่อน เจอครูผู้สอน เจอสภาพแวดล้อมที่ดี จิตใจของเด็กก็มีความสุขตามไปด้วย” โฆษก ศธ. กล่าว