ทำเอาโลกออนไลน์และสัมคมไทยต่างยินดีไปตามๆ กัน ภายหลังจากที่การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ได้มีมติเห็นชอบ รับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจากการไฟเขียวในครั้งนี้ ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนและเป็นประเทศที่ 38 ของโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
-สุดยินดีนาทีที่รอคอย #สมรสเท่าเทียม ทะยานขึ้นอันดับ1ประเทศไทย

สำหรับ สาระสำคัญของร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มีดังนี้
-บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น “คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย”
“คู่สมรส” จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
-การใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น “คู่สมรส”, ชาย-หญิง ปรับเป็น “บุคคล”, บิดา-มารดา ปรับเป็น “บุพการี”
-ปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)
-การฟ้องหย่าในกรณีที่มีชู้เป็นเพศเดียวกัน สามารถทำได้แล้ว

สิทธิประโยชน์ในฐานะ “คู่สมรส”
ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
-มีสิทธิในการหมั้น
-สิทธิจดทะเบียนสมรส
-สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
-สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา
-สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ
-สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต
-สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
-สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
-สิทธิจัดการศพ
-สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น..