จากกรณีวานนี้ (18 มิ.ย.) มีการประชุมคดีการจับกุมเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนและเกิดเรือของกลางหาย เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ซึ่งอัยการจะมีอำนาจทำหน้าที่แนะนำหรือออกสั่งการได้ โดยจะมีการกำหนดทิศทางการสอบสวนจะอยู่ที่พยานหลักฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นจุดเกิดเหตุที่เป็นปัญหา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนที่ นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุด แต่งตั้ง โดยมีตนและก็อัยการอีกคนหนึ่ง เข้าร่วมสอบสวนด้วย และได้ข้อสรุปว่า จุดของการจับกุมเป็นจุดสําคัญ เพื่อต้องทําข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัด คือ มีการกระทําความผิดหรือไม่ และสองใครเป็นผู้กระทําความผิด ในประเด็นที่สอง ตนไม่กังวล เพราะมีคนที่อยู่ในเรือ 28 คน เราได้จัดทําการสืบสวนขยายผลว่าใครสั่งการ ใครเป็นเจ้าของเรือ เรื่องนี้ไม่ยาก

แต่ประเด็นที่หนึ่ง ตำแหน่งที่ถูกจับกุม เราไม่แน่ชัดว่าจุดที่จับเป็นบริเวณใด เพราะในสํานวนการสอบสวนระบุว่า แถวปิโตรเลียมจัสมิน ตรงนี้ คาบเกี่ยวระหว่างทะเลไทยกับน่านน้ำสากล เรามีอํานาจในการดําเนินการในทะเลอาณาเขตอยู่ในระยะ 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นต้องหาความชัดเจนตรงนี้ ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวเป็นข้อต่อสู้ว่า เขาไม่ได้เข้ามาในเขตน่านน้ำไทย เพราะข้อหาที่ฝ่ายจับกุมตั้งมา เป็นข้อหา พยายามทําผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรในการนําน้ำมันเข้าโดยไม่ผ่านศุลกากร หรือตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต การตั้งข้อหาพยายามกระทําความผิด หมายความว่าต้องมีการลงมือแล้วและทําไม่สําเร็จ เพราะฉะนั้นหลักฐานข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าผู้กระทำผิดกําลังจะเอาน้ำมันเข้ามาขายในไทยแล้วก็โดนจับได้ก่อน

โดยในสัปดาห์หน้าจะตนจะสอบสวนกรมสนธิสัญญาและกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ให้รู้ว่าจุดดังกล่าว อยู่ในเขตไหน อย่างไร รวมถึงไปสอบสวนกับกรมศุลกากรในฝ่ายกฎหมายอย่างละเอียดและพยานแวดล้อมต่างๆ จากนั้นในต้นเดือนหน้า หลังจากที่ตนได้ข้อมูลเรื่องเขตน่านน้ำไทยจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ตนจะประสานกับทางตำรวจหรือกองทัพเรือ นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูทะเลจุดจับกุมด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์การทำผิดของผู้ต้องหา

“แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนจับกุมกับคนสอบสวนอยู่คนละชุดกัน ฝ่ายจับอาจจะรู้ข้อมูลชัดเจน แต่คนสอบสวนไม่ได้ไปจับ ไม่รู้เลยว่าจุดที่จับอยู่ตรงไหนแน่ เรากลัวเป็นข้อต่อสู้ในภายหลัง ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ถือว่าเป็นจุดตายของคดีเลย แล้วสํานวนนี้ต้องนําเสนอท่านอัยการสูงสุด เป็นคนสั่งคดีเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นเราต้องสอบและทำสำนวนโดยละเอียด ถ้าเกิดเสนอสํานวนขึ้นไป ทางท่านอัยการสูงสุดต้องตั้งคำถามเรื่องจุดจับกุม หรืออำนาจจับกุม อย่างอาจจะอยู่นอกน่านน้ำไทยก็จริง แต่เป็นเขตที่สามารถจับกุมได้โดยศุลกากร ประเด็นจุดจับกุมจึงสำคัญมาก หากนอกเขตที่เรามีอํานาจจับกุม จะกลายเป็นว่าไม่มีความผิด” นายวัชรินทร์ กล่าว

แต่ระหว่างนี้ทางทีมสอบสวนก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่สอง เรื่องที่ว่าใครเป็นผู้ร่วมกระทําผิด กับผู้ต้องหาทั้ง 28 คนนี้ เรามีอีกชุดสอบสวนที่จะต้องไปหาผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างเจ้าของเรือ คนสั่งการ เพราะข่าวลือว่าอักษรย่อ จ. คนนั้น คนนี้ มีแต่นอกสำนวนทั้งหมด.