เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มิ.ย. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ในวาระแรก โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งหายจากอารป่วยโควิด -19 เป็นวันแรก ได้นำทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้นำทีมรัฐมนตรีและ สส.พรรคภูมิใจไทย ใส่เสื้อสีเหลืองเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะใส่ในวันพิจารณางบประมาณ 2 วัน คือวันที่ 19 และวันที่ 21 มิ.ย. นี้

โดยนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน ครม. ได้กล่าวนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ต่อสภา ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีจุดมุ่งหมายที่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2568 อยู่ที่ ร้อยละ 0.7-1.7 ช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับฐานรากกระจายไปทั่วประเทศ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้ภาครัฐ เพื่อใช้ในลงทุนสร้างขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกปี 2567 การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ มีเป้าหมายจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน รัฐบาลมีแผนให้ปี 2568 เป็นปีท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มนักท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต การแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 850,000 ล้านบาทในปี 2566 สูงสุดในรอบ 9 ปี หลายบริษัทในอุตสาหกรรมชั้นสูง แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรายได้จากรัฐพาณิชย์ที่เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะมีรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท บวกเงินกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลงบประมาณอีก 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทั้งนี้หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567  มีจำนวน 11.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ภายใต้กรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ไม่เกินร้อยละ 70 ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง วันที่ 30 เม.ย. 2567 มี 430,076 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความท้าทายการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการผลิต ที่เผชิญความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 เป็นสัดส่วนการลงทุนสูงสุดรอบ 17 ปี รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท ร้อยละ 4 โดยจำแนกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ความมั่นคง 405,412.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาความมั่นคงประเทศ อาทิ การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การรักษาความสงบในประเทศ 2.ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขัน 398,185.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเติบโต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน อาทิ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การสร้างรายได้การท่องเที่ยว สนับสนุนการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ

นายเศรษฐา กล่าวว่า 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 583,023.4 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาการเรียนรู้ 4.ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 923,851.4 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย การพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษา การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 137,291.9 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6.ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 645,880.9 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพ อาทิ การต่อต้านทุจริต ตั้งเป้าหมายค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตไม่ต่ำกว่า 55 คะแนน การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

“การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ เพื่อดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐา กล่าว

ซึ่งนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 เป็นเวลา 1 ชม. 30 นาที.