น้อง น. : คุณหมอคะ ดิฉันติดตามคอลัมน์ของคุณหมอ ได้ความรู้ และนำเทคนิคไปฝึกฝนใช้ในงานแสดง ทั้งเรื่องอาบนํ้าอย่างไรให้รักษ์โลก การปรับตัวในภาวะโลกเร่าร้อน และอื่น ๆ ที่บรรยายโจ่งแจ้งไม่ได้ ที่เขียนมาวันนี้เพราะอยากได้เทคนิคการจัดการกับช่างแอร์ในตำนาน Dr.Climate รีบตอบนะคะ ร้อนใจ ดิฉันนัดช่างแอร์ไว้อาทิตย์หน้าค่ะ

คุณหมอมาร์ค : น้อง น. ครับ คราวหน้าส่งจดหมายมา ไม่ต้องส่งรูป และผลงาน DVD ที่เคยแสดงมาด้วยก็ได้นะครับ อาจจะทำให้คุณหมอไขว้เขวได้ สำหรับเรื่องช่างแอร์มีเทคนิคที่ต้องพิจารณาหลายขั้นตอน ข้อแรก ต้องรู้ก่อนว่าเครื่องปรับอากาศ ที่เราเรียกว่าแอร์นั้นแม้จะทำให้อุณหภูมิรอบตัวเราเย็นลง แต่เครื่องคอมเพรสเซอร์จะปล่อยลมให้โลกร้อนขึ้น และอาจแถมสาร HFC ที่อันตรายกว่าคาร์บอนอีกหลายเท่า ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ในห้องแอร์เกือบทั้งวัน เราจะสร้างคาร์บอนราว 1 ตัน เท่ากับครึ่งหนึ่งของโควตาที่แต่ละคนปล่อยได้ในแต่ละปี ดังนั้นควรเปิดแอร์เมื่อจำเป็นเท่านั้น บางทีแค่ปรับสภาพของห้อง ติดฉนวนที่ฝ้าเพดานและผนังส่วนที่รับแดด แล้วใช้พัดลมเป่าอากาศให้หมุนเวียนระบายได้ก็เพียงพอแล้ว

ขั้นต่อมาถ้าจำเป็นต้องติดแอร์ ให้พิจารณาขนาด BTU ให้พอดี ควรเลือกเครื่องที่ประหยัดไฟเบอร์ 5 ถ้าเพิ่ม 3 ดาวได้ ก็จะดีขึ้นไปอีก อันนี้ช่างแอร์น่าจะแนะนำได้ ต่อมาเมื่อช่างติดตั้งแอร์เรียบร้อยแล้ว ก็เปิดใช้อย่างพอเพียง มีเทคนิคเพิ่มเติมว่าเราสามารถตั้งอุณหภูมิที่ไม่เย็นเกินไป เพื่อลดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ และเปิดพัดลมควบคู่ไปด้วย สามารถลดอุณหภูมิและประหยัดขึ้นได้อีก ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมในประเทศสิงคโปร์ และที่สำคัญ เมื่อใช้งานไปสักพักต้องทำการล้างแอร์อย่างสมํ่าเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดฝุ่น น้อง น. สามารถทำตารางนัดช่างแอร์ล่วงหน้าได้เลยครับ คุณหมอดู DVD ประกอบคำถามที่ น้อง น. ส่งมาแล้ว แนะนำว่าตอนช่างแอร์มาติดตั้ง น้อง น. ควรจะแต่งกายให้มิดชิดรัดกุมจะปลอดภัย และช่วยลดโลกร้อนได้มากครับ

พออ่าน จม. น้อง น. มาถึงบรรทัดสุดท้ายมีตัวหนังสือเลอะเลือนเปื้อนนํ้า เขียนว่าวันหลังจะแวะไปตรวจภายในที่คลินิก Dr. Clima… นะคะ คุณหมอมาร์ค เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า บก.ส่ง จม. ให้คอลัมนิสต์ถูกคนหรือเปล่า…นี่ Dr.Climate นะครับ ไม่ใช่ Dr.Climax