การฟอกเขียว Green Wash ที่องค์กรต่าง ๆ ประโคมข่าวโฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างภาพองค์กรอนุรักษ์คาร์บอนตํ่า ทั้งที่ทั้งองค์กรและพนักงาน รวมถึง CEO ยังไม่สนใจคำนวณคาร์บอนอย่างจริงจังเลย การฟอกฟ้า Blue Wash ที่องค์กรต่าง ๆ ทำ MOU และให้ Sponsor กับองค์กรในตระกูล UN ถ่ายรูป ทำข่าวแล้วไม่ได้ทำต่อเนื่อง และสุดท้ายในเดือน มิ.ย.นี้ การฟอกสายรุ้ง Rainbow Wash ที่กำลังรณรงค์สร้างความเท่าเทียมทางเพศกันอย่างจริงจัง มิใช่แค่ใช้สีรุ้งทำการตลาดเพิ่มยอดขาย จนมีผู้อ่านติดต่อมามากมาย ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า องค์กรไหนของจริง องค์กรไหนสร้างภาพ และ CEO คนไหนมี Passion จริง หรือคนไหนเป็นจอมฟอก แถมผู้อ่านบอกว่าผมคลุกคลีอยู่วงการความยั่งยืนมายาวนาน รู้จักผู้นำองค์กรแบบใกล้ชิด ให้ผมทำ “Watchdog list รายการ CEO จอมฟอกที่สังคมต้องเฝ้าระวัง” หรือถ้ากลัวให้เปิดเผยเป็นชื่อย่อก็ได้ ผมตอบไปว่าถ้าบอกความจริง ผมอาจเสียเพื่อนไปจำนวนหนึ่งทีเดียว

หลายองค์กรที่เหล่านักวิจารณ์ตราหน้าว่าฟอกเขียว ที่จริงแล้วองค์กรเหล่านั้นอาจจะอยู่ในช่วงการเรียนรู้ และปรับตัวก็ได้ หลายองค์กรที่ผมรู้จัก CEO และผู้นำมี Passion เอาจริง แต่ทีมงานความยั่งยืนยังตามความคิดของผู้นำไม่ทัน หลายองค์กรมี CSO และผู้นำความยั่งยืนที่เข้มแข็งก้าวหน้า แต่ CEO ไม่ใส่ใจ บอกว่าให้เติมข้อมูลให้เต็ม Box Checker แค่มีข้อมูลไปขอมาตรฐาน และขอรับรางวัลก็พอแล้ว หลายองค์กรที่ดูดีมีความยั่งยืนโดดเด่น ดูจากข้อมูล Vision Mission ใน Website เมื่อเราเข้าไปในองค์กรจะเห็น Keyword ของความยั่งยืนติดเต็ม Lobby มีสติกเกอร์ 17 สีของ SDG ติดอยู่รอบห้องประชุม แต่เมื่อเราได้พบปะจิบกาแฟพูดคุยกับผู้บริหารตัวจริง เราอาจพบสายตาที่ล่องลอย คุยกันไปคนละทิศละทางกับที่ PR สื่อสารสร้างภาพไว้ในเอกสาร และมักจะพบว่าบุคลากรสายความยั่งยืนที่เก่ง ๆ ในองค์กรเหล่านั้นจะทยอยลาออกไปอยู่ที่อื่น หลายท่านคงจะพอเดาได้ว่าองค์กรเหล่านั้นคือใครบ้าง โดยไม่ต้องใส่ตัวย่อ

และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อนผมได้ชวนไปฟังการบรรยายของนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำด้านความยั่งยืน อย่าง อาจารย์ Rajeev Peshawaria CEO ของ Stewardship Asia ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Sustainable Sustainability…Why ESG is not Enough อาจารย์ Rajeev ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการจัดการของสิงคโปร์ SMU ที่มีสาขาในเมืองไทย จัดวงเสวนาเรื่อง “ความยั่งยืนของความยั่งยืน” ซึ่งการบรรยายของอาจารย์ Rajeev เน้นภาวะผู้นำของ CEO บริษัทชั้นนำทั่วโลกที่เป็นตัวจริง ตัวปลอม และจอมฟอกระดับโลก อาจารย์ยังบอกว่าการทำ ESG ตามมาตรฐานที่นักลงทุนคาดหวังไม่เพียงพอ แต่ต้องมาจากใจ มาจาก Passion และมาจาก DNA ขององค์กร โดยอาจารย์เรียกภาวะผู้นำนี้ว่า “Steward Leadership” ผมฟังการบรรยายไปเรื่อย ๆ เหมือนได้ยินเสียงสะท้อนของการบริหารจัดการแบบ “พอเพียง” ที่ไม่ได้ใช้กำไรสูงสุดขององค์กรเป็นเป้าหมาย แต่ใช้ประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มีการบริหารจัดการด้วยความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีคิด โดยในการบรรยายตอนหนึ่ง อาจารย์ได้พูดเรื่อง “ผู้นำจอมฟอก” ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้อ่านถามมา โดยอาจารย์ Rajeev บอกว่า “ภาวะผู้นำความยั่งยืน” อาจจะแบ่งได้เป็น 5 ประเภทดังนี้

1.Green/Purpose Washer : ผู้นำความยั่งยืนจอมปลอม-นักฟอกเขียว ผู้นำแบบนี้จะดูดี ออกสื่อบ่อย สื่อสารเก่ง ชอบไปบรรยายตามเวทีใหญ่ ๆ ไปเปิดงาน แต่ไม่เคยให้ความสำคัญ หรือให้เวลากับความยั่งยืนในการประชุมกรรมการ ไม่ได้วางแผนขับเคลื่อนกับฝ่ายปฏิบัติการ ไม่สนับสนุนด้านงบประมาณด้านความยั่งยืน แต่เทงบไปให้งาน PR และที่สร้างปัญหาใหญ่ คือ บิดเบือนข้อมูลความยั่งยืน แก้ไขตัวเลขสำคัญ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ถูกจับ และโดนปรับกันมาแล้วหลายราย

2.Blissfully Ignorant or In Denial : ผู้นำที่ไม่ใส่ใจความยั่งยืน เมื่อถูกถามว่าความยั่งยืนคืออะไรก็มักจะไม่ตอบ
ไม่สนใจ มุ่งแต่เป้าหมายกำไรสูงสุดตาม KPI เพื่อความมั่งคั่ง และส่วนแบ่งของตนเองกับพรรคพวก

3.Window Dresser : ผู้นำความยั่งยืนที่ดูดีแค่ภายนอก พอเห็นข่าวองค์กรอื่นทำ ผู้นำแบบนี้จะเรียกทีมงานมาสั่งว่าเราต้องทำบ้าง ต้องดูดีกว่า ต้องประชาสัมพันธ์เยอะ ๆ พอทีมงานถามว่ามีงบเท่าไรก็มักได้คำตอบว่าน้อยที่สุด แต่ต้องได้ข่าวมากที่สุด

4.Box Checker : ผู้นำความยั่งยืนแบบประหยัด-มินิมอล ผู้ลงทุนต้องการ
แค่ไหนก็ทำแค่นั้น บางทีไม่รู้เลยว่าทำไปทำไม องค์กรที่ทำ Ranking หรือองค์กรกำกับดูแลกำหนดมาตรฐานไว้แค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ให้พอผ่านเกณฑ์ อย่าไปลงทุนเยอะ

5.True Champion : ผู้นำความยั่งยืนที่แท้จริง แบบนี้มาเต็ม ความยั่งยืนฝังอยู่ใน DNA ที่ทำเพราะเขาอยากให้โลกนี้ดีขึ้น ต้องทุ่มเท อดทน สวนกระแส และคำวิพากวิจารณ์ต่าง ๆ ผู้นำแบบนี้มักจะมีวิสัยทัศน์ไกล มีความรู้ และเครือข่ายรอบด้าน ส่วนมากมักจะถ่อมตน Humble ไม่เน้นประชาสัมพันธ์ แต่ให้ผลงานพูดแทน

ท้ายสุด อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และผู้บริหารศูนย์วิจัยและนวัตกรรมความยั่งยืน RISC ได้เล่าถึงตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น กลุ่ม MQDC ที่มีการลงทุนในงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาจารย์สิงห์ยังบอกว่า คนรุ่นใหม่ใส่ใจด้านความยั่งยืนมากขึ้น พวกเขาเป็นทั้งนักลงทุน เป็นลูกค้า เป็นพนักงาน เป็นผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร และพวกเขายังคอยตรวจสอบอีกด้วย การฟอกต่าง ๆ และความยั่งยืนปลอม ๆ จะค่อย ๆ หมดไป เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและธรรมาภิบาลมากขึ้น

ผมเห็นด้วยกับทั้ง อาจารย์ Rajeev และอาจารย์สิงห์ 100% และขอเพิ่มเติมว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญ ที่ต้องทำงานกันหนักขึ้น ควรเผยแพร่ข้อมูลความยั่งยืนรอบด้าน และเป็นกระจกสะท้อนให้องค์กรต่าง ๆ ไปปรับปรุงพัฒนา โดยไม่เพียงแค่ลงข่าวแจก หรือข่าวโฆษณาแบบเดิม ๆ