นายเดเรค แมนคีย์ ประธานฝ่ายกลยุทธ์ด้านความปลอดภัย และรองประธานอาวุโสฝ่ายข่าวกรองภัยคุกคามระดับโลก FortiGuard Labs เปิดเผยว่า จากรายงาน Global Threat Landscape Report ในครึ่งหลังของปี 2023 จาก FortiGuard Labs ชี้ให้เห็นว่าผู้คุกคามสามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ความปลอดภัยใหม่ที่ถูกเปิดเผยได้รวดเร็วขนาดไหน โดยในสภาพการณ์เช่นนี้ ทั้งผู้จำหน่ายและลูกค้าต่างมีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบ ในมุมของผู้จำหน่ายต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทุ่มเทเพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับความโปร่งใส อย่างตรงไปตรงมาในการเปิดเผยช่องโหว่ด้านความปลอดภัย จากที่ NIST ชี้ให้เห็นว่าในปี 2023 มีช่องโหว่มากกว่า 26,447 รายการจากผู้จำหน่ายทั้งหมด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกค้าต้องมีการอัปเดตแพตช์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี

โดยประเด็นสำคัญที่พบในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

การโจมตีเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 4.76 วัน หลังจากมีการเปิดเผยช่องโหว่ใหม่สู่สาธารณะ เช่นเดียวกับรายงาน Global Threat Landscape ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ของ FortiGuard Labs ที่พยายามหาว่าตั้งแต่เริ่มมีการเปิดเผยช่องโหว่ (Vulnerabilities) จนถึงการนำช่องโหว่ไปใช้โจมตี (Exploitation) ใช้เวลานานแค่ไหน หรือช่องโหว่ที่มีคะแนนความเสี่ยงสูง (EPSS – Exploit Prediction Scoring System) จะถูกโจมตีได้เร็วขึ้นหรือไม่ และจะสามารถคาดการณ์ระยะเวลาเฉลี่ยที่ช่องโหว่จะถูกโจมตีโดยใช้ข้อมูลจาก EPSS ได้หรือไม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ พบว่าครึ่งหลังของปี 2023 ผู้โจมตีสามารถนำช่องโหว่ใหม่ๆ ที่มีการเปิดเผย ไปใช้โจมตีได้เร็วขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2023

เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้จำหน่ายจะต้องทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อค้นหาช่องโหว่ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และพัฒนาแก้ไขให้ได้ก่อนที่จะถูกโจมตีจริง เพื่อลดกรณีการเกิดของช่องโหว่แบบซีโร่-เดย์  นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำว่าผู้จำหน่ายต้องเปิดเผยข้อมูลช่องโหว่ให้ลูกค้ารับทราบล่วงหน้าด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้ามีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับป้องกันสินทรัพย์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่ผู้โจมตีทางไซเบอร์จะสามารถโจมตีช่องโหว่นั้น (N-day Vulnerabilities)

ด้าน น.ส.ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ภาพรวมภัยคุกคามที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแนวทางการรับมือ โดยใช้แพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลางในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะโซลูชันแบบดั้งเดิมที่แยกส่วนกันทำงาน ไม่สามารถจัดการกับเทคโนโลยีหลากหลาย และโมเดลการทำงานแบบไฮบริด รวมถึงการผสานรวมของ IT/OT ที่เป็นลักษณะของเครือข่ายสมัยใหม่ได้

โดยแพลตฟอร์มของฟอร์ติเน็ตที่รวมการทำงานของเครือข่ายและความปลอดภัยไว้ด้วยกัน และขับเคลื่อนการทำงานด้วย AI ช่วยตอบโจทย์ความซับซ้อนในเรื่องนี้ได้ ให้การป้องกันภัยคุกคามได้อย่างครอบคลุม ช่วยจัดการช่องโหว่ได้แบบอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น กลยุทธ์แบบผสานรวมดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดความซับซ้อนในการดำเนินงานแล้ว ยังช่วยให้มั่นใจว่า องค์กรจะสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างแข็งแกร่งทั้งปัจจุบันและในอนาคต