ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด่านซ้ายเป็นอำเภอเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของเมืองบางยาง (เชื่อว่าตั้งอยู่ใน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) ซึ่งพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยาง ตั้งขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน และเรียกว่า “เมืองด่านซ้าย” มาจากคำเดิมว่า “ด่านช้าง” ซึ่งในสมัยโบราณพื้นที่บริเวณนี้มีช้างป่าชุกชุม เที่ยวหากินไปมา และหากินดินโป่ง อยู่ระหว่างป่าภูหลวง ป่าโป่งลิงต้น ป่าเขตเมืองลานช้าง แขวงเมืองไชยบุรี สปป.ลาว คนในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “ด่านช้าง” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ด่านซ้าย” สันนิษฐานตามประวัติศาสตร์ว่า พ่อขุนบางกลางท้าวเจ้าเมืองบางยาง ได้ตั้งเมืองหน้าด่านเพื่อประชิดเขตแดนขอม เดิมเมืองด่านซ้ายตั้งอยู่ในเขตปกครองของมณฑลพิษณุโลก จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นอำเภอ อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเลย ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม 2450 ปัจจุบันจึงมีอายุครบ 117 ปี

ชาวด่านซ้ายส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในวันพระชาวบ้านจะหยุดงานไม่ไปทำไร่ทำนาและถือโอกาสไปทำบุญที่วัด เนื่องจากชาวอำเภอด่านซ้าย ยังคงมีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติความเชื่อเรื่องภูตผี วิญญาณ ความเชื่อในการนับถือบรรพชน ความเชื่อและความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุศรีสองรัก จึงทำให้อำเภอด่านซ้ายเกิดประเพณีเฉพาะถิ่น เช่น ประเพณีไหว้เจ้าเมืองวัง จัดในเดือนสี่ ประเพณีไหว้เจ้าเมืองกลาง จัดในเดือนห้า ประเพณีนมัสการพระธาตุศรีสองรัก จัดในเดือนหก และประเพณีเลี้ยงหอหลวง-หอน้อย จัดขึ้นในเดือนเจ็ด

ส่วนประเพณีบุญหลวงเป็นการเอาบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆ ใน “ฮีตสิบสอง” ของภาคอีสาน 2 อย่างมารวมกันเป็นประเพณีเดียว เช่น “บุญพระเวสสันดร” ซึ่งนิยมทำในเดือนสี่ และ “บุญบั้งไฟ” ที่นิยมทำในเดือนหก มารวมจัดเป็นบุญเดียว และเลื่อนมาทำในเดือนแปด เมื่อถึงงานประเพณีบุญหลวง ทุกคนนึกถึงก่อน คือ การละเล่น “ผีตาโขน” เพราะการละเล่นชนิดนี้ให้ความสนุกสนานทั้งผู้เล่นและผู้ชมจนทุกคนให้ความสำคัญเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “งานประเพณีผีตาโขน” ทั้งที่การเล่นผีตาโขนเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของประเพณีบุญหลวงเท่านั้น

นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผวจ.เลย กล่าวว่า จ.เลย ร่วมกับ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนทัองถิ่น ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน กำหนดจัดงาน ระหว่างวันที่ 7-9 ก.ค. 67 เริ่มงานวันแรก วันที่ 7 ก.ค. 67 เวลา 03.00 น. เริ่มพิธีบวชพราหมณ์ ณ อุโบสถวัดโพนชัย และเวลา 04.00 น. มีพิธีเบิกพระอุปคุต โดยคณะพ่อแสนจะนำมีด ดาบ หอก ฉัตร ถือเดินจากวัดโพนชัยไปยังที่ประกอบพิธีริมน้ำหมันระหว่างริมน้ำหมัน-ลำน้ำศอก ทำพิธีเชิญพระอุปคุตขึ้นจากกลางลำน้ำหมัน จากนั้นนำมาทำพิธีที่หออุปคุต วัดโพนชัย มีพิธีทำบุญตักบาตร เริ่มจากหน้าวัดโพนชัยไปตามถนนพระแก้วอาสา ไปจนถึงทางแยกไปอำเภอนาแห้วแล้ววนกลับมาที่วัดโพนชัย ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ที่บ้านเจ้าพ่อกวน และตั้งขบวนแห่เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมไปที่วัดโพนชัย เวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เพื่อทำพิธีเปิดงานบุญหลวง “วันโฮม” ในขบวนจะมีชาวบ้านพร้อมผีตาโขนน้อยใหญ่ ร่วมกันเซิ้ง และหยอกล้อผู้คนที่มาชมงานเป็นที่สนุกสนาน เวลา 13.00-23.00 น. ชมกิจกรรมการแสดงของนักเรียนสลับกับการประกวดต่างๆ ณ วัดโพนชัย วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนประจำปี 2567 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย พร้อมผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนน้อยนับพันตน เวลา 15.00 น. ชมพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดร ณ บ้านเจ้าพ่อกวน

ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพธิ์ชัย ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ถึงบริเวณวัดโพธิ์ชัยแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ พิธีเชิญพระพุทธรูปเข้าโบสถ์ พิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขนใหญ่ (ท่าวังเวิน) หลังวัดโพธิ์ชัย และพิธีจุดบั้งไฟพญาแถน เพื่อขอฝน (หลังวัดโพธิ์ชัย) และเวลา 19.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ณ วัดโพธิ์ชัย ตั้งแต่ 19.00 น. ชมดนตรีและปาร์ตี้ผีตาโขนกลุ่มอิสระหน้าสวยงาม ณ เวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย และวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย ตั้งแต่เวลา 02.30 น. ถึง 18.00 น. พิธีมหาชาติ 13 กัณฑ์ และชมขบวนแห่ต้นกัณฑ์ต่างๆ ในอำเภอด่านซ้าย ณ วัดโพธิ์ชัย อำเภอด่านซ้าย

ด้านนายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.เลย กล่าวว่า ได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว ไปยังนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในปีนี้ ได้จัดทำข้อมูลการจัดงานออกเป็น 2 ภาษา ด้วยกัน ประกอบไปด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่อเป็นการขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายไปยังนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในการเพิ่มอัตราการเข้าพักในช่วงวันธรรมดาในอำเภอด่านซ้าย และอำเภอใกล้เคียงในพื้นที่ จ.เลย กระตุ้นเศรษฐกิจไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย ททท.สำนักงานเลย คาดว่าจะสร้างรายได้โดยภาพรวมในช่วงการจัดงาน เป็นเงินประมาณ 65 ล้านบาท มียอดอัตราการจองห้องพักอยู่ที่ร้อยละ 75 และจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน ประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้ จากจากการที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยวนั้น จ.เลย เป็น 1 ใน 18 เมืองน่าเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง Must to do in Thailand ในด้าน Must See งานดังกล่าว จะสามารถนำเสนอเรื่องราวประเพณีที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของ จ.เลย ที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปสัมผัสให้เห็นกับตาสักครั้งหนึ่งในชีวิตอีกด้วย

นอกจากนี้ นายพิสิทธิ์ ทับทอง ผู้ก่อตั้งหอศิลป์เบิกกะบาลสวนสร้างสรรค์และประธานเครือข่ายศิลป์สร้างสรรค์เมืองด่านซ้าย กล่าวว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ของมรดกความทรงจำแห่งจังหวัดเลยและของเอเชียอาคเนย์ ว่าด้วยสัญญาทางไมตรีศรีอโยธยาและศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง พ.ศ. 2103 โดย ศ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัย สถาบันศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้บันทึกงานวิจัยว่าด้วยเรื่อง จารึกพระราตุศรีสองรัก และใบลานเจดีย์เมืองด่านซ้าย ซึ่งได้เขียนรวบรวมเอกสารสำคัญของชาติไทยไว้ใน 100 เอกสารสำคัญ สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย นำเสนอเป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ยกย่องจากสถาบันต่างๆ ระดับนานาชาติ ว่าเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าในของชาติไทยและเอเชีย อีกทั้งเอกสารของประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่นำเสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศส โดย Louis Finot ชื่อผลงาน Notes d’epigraphie: Stele de Dansai ตี๋พิมพ์ในปี คศ. 1916 หรือ พ.ศ. 2458 และเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งของ สปป.ลาว ในเอกสาร มูลมรดกชนชาติอ้ายลาวบันทึกประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญ ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของประชาชาติลาวและสยาม โดย มหาศิลาวีรวงศ์ ซึ่งมีเนื้อหาใจความที่ยืนยันใน จารึกพระธาตุศรีสองรัก และมีเอกสารสำคัญที่ประวัติศาสตร์ระหว่างชาติไทยและ สบป.ลาว คือ ใบลานเจดีย์เมืองด่านซ้าย ซึ่งจารขึ้นเมื่อมหาศักราช 1482 ตรงกับ ค.ศ. 1560 หรือ พ.ศ. 2103 คือการกำหนดเขตแดนและสัญญาพันธมิตรระหว่างกษัตริย์ศรีอโยธยาและกษัตริย์ศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง

จากเอกสารทั้งหมดบันทึกเหตุการณ์ที่ยืนยันว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระเจ้ากรุงศรีอโยธยา กับ พระเจ้าไขยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ได้เดินทางมาด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงเป็นประธานประกอบการพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจาต่อกัน พร้อมด้วยพระมหาอุปราช ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยมีพระสงฆ์ของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมพิธี ในวันที่ 7 ก.ค. พ.ศ. 2103 เป็นเหตุการณ์แรกที่สำคัญยิ่ง ที่เราชาวอำเภอด่านซ้ายและจังหวัดเลย รวมทั้งประชาชนไทยและ สปป.ลาว ทั้งสองประเทศ จะได้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์แห่งความมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน และสมควรที่จะจัดงานบวงสรวงรำลึกเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองบูรพกษัตริย์สองแผ่นดิน ได้ดำเนินประกอบพระราชพิธีเพื่อสันติมีต่อโลกเป็นครั้งแรก และมีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของเอเซียอาคเนย์และของโลก

ในวันที่ 7 ก.ค. 67 ณ พระธาตุศรีสองรัก โดยครั้งนี้ เครือข่ายศิลป์สร้างสรรค์ เมืองด่านซ้าย คณะผู้นำทางจิตวิญญาณ และตัวแทนภาคประชาชน ได้จัดพิธีบวงสรวงดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ในการรำลึกวันสำคัญของชาติไทย จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานผีตาโขน เข้าชมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อีกงานหนึ่ง