นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรณีสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (The Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุให้กับกรมศิลปากร จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชิ้นส่วนเสาติดผนัง สลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ (Fragment of a Pilaster with Krishna lifting Mount Govardhana) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทปราสาทหิน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 900 ปี ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตรวจสอบข้อมูลโบราณวัตถุดังกล่าว พบว่าเป็นชิ้นส่วนเสาติดผนังด้านซ้ายของกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าถูกลักลอบนำออกไปจากประเทศไทยราวปี 2508 ก่อนที่ กรมศิลปากรจะเริ่มโครงการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ ดร. Nicolas Revire ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและโบราณคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ได้เดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และพบหลักฐานที่เชื่อมั่นได้ว่า เสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ที่สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกได้รับบริจาคเมื่อปี 2509 นั้นมาจากปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จึงมีความกังวลว่า โบราณวัตถุดังกล่าวอาจมีที่มาที่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีความประสงค์ส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลไทย โดยสถานะปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารทรัพย์สิน (Board of Trustees) ของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ได้อนุมัติให้ถอดโบราณวัตถุรายการนี้ออกจากทะเบียนของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 2567 และได้ประสานกรมศิลปากรถึงขั้นตอนการเตรียมการส่งคืนสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ ได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เพื่อทราบในเบื้องต้นด้วยแล้ว โดย น.ส.สุดาวรรณ มีความเห็นว่า แม้โบราณวัตถุดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในรายการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ เป็นการเสนอคืนของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะได้รับโบราณวัตถุสำคัญกลับคืนมา ซึ่งสามารถนำมาเติมเต็มชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของโบราณสถานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกเป็นอย่างยิ่ง