ทีมผู้เชี่ยวชาญเพิ่งเผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดจากประเทศอังกฤษ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 73,888 คน ว่าพวกเขาพบแนวโน้มของการเกิดปัญหาสุขภาพในกลุ่มคนที่เข้านอนช้า โดยเฉพาะหลังจากเวลา 01.00 น. เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ดร.อินทิรา คุรุภัควะตุลา ศาสตราจารย์ประจำแผนกการศึกษาการนอนหลับของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทีมศึกษา ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการวิเคราะห์ครั้งนี้ไว้ว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว อายุเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนหรือแก่กว่า อีกทั้งแบบสอบถามที่ใช้ในโครงการก็ยังไม่มีความละเอียดมากพอ

ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า คนที่เข้านอนดึกมาก หลังจากเวลา 01.00 น. มักจะมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล มากกว่าคนที่เข้านอนเร็วกว่านั้น

ดร.คุรุภัควะตุลา แสดงความเห็นและอธิบายว่า คนนอนดึกอาจจะยังคงทำอะไร ๆ ได้ตามปกติ แต่กลีบสมองส่วนหน้าอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจากการอดนอน ความสามารถในการยับยั้งอารมณ์ไม่ให้ผันผวนอย่างรุนแรงของเราจะลดระดับลง ถ้าหากเรานอนไม่พอหรือเข้านอนดึก ๆ เป็นประจำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดในแง่ลบและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น เพราะสมองส่วนที่มีหน้าที่จัดการอารมณ์และความคิดเหล่านี้ทำงานได้ไม่ดี

แต่ปัญหาก็คือ บางคนต้องทำงานกะกลางคืน เช่นนี้ก็เท่ากับว่าพวกเขาต้องนอนดึกเพราะการงาน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร

ดร.คุรุภัควะตุลา อ้างว่าการงีบหลับเป็นช่วง ๆ จะช่วยได้มากสำหรับผู้ที่มีปัญหาว่าต้องทำงานตอนกลางคืน แต่จะต้องควบคุมให้การงีบหลับแต่ละช่วงไม่เกิน 20-30 นาที

เธอยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อถึงช่วงหนึ่ง ร่างกายจะรู้สึกง่วงมากจนยากจะฝืนลืมตาตื่น ให้ฉวยโอกาสตอนนี้เพื่องีบหลับ ถ้าหากทำได้ 

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งก็คือการ “หลับล่วงหน้า” ซึ่งก็คือการนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ก่อนที่จะเข้าไปทำงานในช่วงกลางคืน

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES