ทำไมต้องชิงสิทธิไพรด์โลก? ก็เพื่อผลประกอบการทางเศรษฐกิจ ดึงนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเข้ามาร่วม และทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะในกลุ่มหลากหลายทางเพศ “ถูกเชื่อว่า” ไม่มีภาระทางครอบครัว มีรสนิยมในการซื้อของ ถ้ารัฐบาลผลักดันดี ๆ เป็นเทศกาลได้เหมือนกับสงกรานต์ก็ได้ คือขายสินค้าก็ได้

แต่พูดก็พูดเถอะ ถ้ามองกลุ่มหลากหลายทางเพศแค่ลูกค้าที่มีกำลังจ่าย เหมือนมองกันแบบฉาบฉวยเกินไป กลุ่มหลากหลายทางเพศที่เป็นอีลิท หรือไฮโซนั้นมีอยู่หย่อมมือเดียว บางคนเป็น generation sandwich ด้วยซ้ำ คือไม่ได้มีเงินมาใช้ซื้อสินค้าสีรุ้งฉาบฉวย บ้านก็เช่า พ่อแม่ก็ต้องดูแล เผลอ ๆ ญาติพี่น้องเอาหลานมาให้เป็นภาระอีก

เห็นรัฐบาล “เสี่ยนิด” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เตรียมจะจัดงานเฉลิมฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ก็รู้สึกแปลก ๆ อย่างไรก็ไม่รู้ในฝ่ายการเมือง กลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นโหวตเตอร์ที่มีพลังมาก ทั้งจำนวนมากทั้งมีอิทธิพลในอินเทอร์เน็ต (เป็น influencer) ก็มาก ก็คงต้องเอาใจแบบ “รักเราเท่าเทียม” อะไรอย่างนี้กระมัง สว.น่าจะรับรองกฎหมาย 18 มิ.ย.

แล้วก็มาพูดย้อนอดีตไปถึงสมัย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็น รมว.มหาดไทย หรือสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า “พรรคเพื่อไทยส่งเสริมการสมรสเท่าเทียม” ซึ่งลองย้อนมองกันให้ดี ส่งเสริม “สมรสเท่าเทียม” หรือ “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ซึ่งสิทธิไม่เท่าสมรสเท่าเทียม และให้มีการออกกฎหมายให้ LGBT สมรสแยกต่างหาก

ซึ่งกลุ่ม LGBT เขาก็ไม่พอใจ เพราะการใช้กฎหมายแต่งงานคนละฉบับ เหมือนการ “ไม่ใช่พลเมืองประเทศเดียวกัน” ก็มีความพยายามยกร่างภาคประชาชนให้แก้ ปพพ. มาตรา 1448 จาก “ชายหญิงสมรสกัน” เป็น “บุคคลสมรสกัน” ต่อมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ คนที่ผลักดันคือพรรคอนาคตใหม่ นำโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ก็ไม่รู้ใครเกาะกระแสใครไม่อยากจะว่า เอาเป็นว่ากฎหมายผ่านก็ถือว่าดีแล้ว แต่ความท้าทายเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศมันไม่ได้จบแค่เรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังมีกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายรับรองเพศ ซึ่งกลุ่มข้ามเพศสามารถใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้ บางคนอาจว่า “เยอะ” แต่ขอให้เข้าใจว่า กฎหมายมันจำเป็นสำหรับคนที่ต้องใช้

ความท้าทายที่มีอีก คือการมี “สถานที่ทำงานที่เป็นมิตร” ไม่ใช่แค่ฉวยโอกาสเดือนไพรด์ออกสินค้าสีรุ้ง แต่เรื่องสิทธิในบริษัทห่วยแตก ต้องสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การรับเข้าทำงาน การมีพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถร้องเรียนได้หากถูกกลั่นแกล้งรังแก มีโอกาสเติบโตในสายงานโดยไม่เอาเรื่องเพศมาเป็นปัจจัยตัดสิน

นอกจากนี้ แม้จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่การเป็นสังคมคนโสดมีมากขึ้น ทำให้มีความท้าทายใหม่ที่รัฐบาลจะต้องไม่ลืมกลุ่ม LGBT ด้วย โดยมีโครงการอาจเป็นพื้นที่บ้านสูงอายุสำหรับ LGBT สูงวัย ป้องกันการถูกรังเกียจ หรือมีการส่งเสริมการงานอื่น ๆ สำหรับ กลุ่มนางโชว์ที่ปลดเกษียณ เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยดียามแก่เฒ่า

จริง ๆ เรื่องความท้าทายเกี่ยวกับ LGBT มีอีกหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการสร้างความเข้าใจในตัวตนที่ถูกต้องตั้งแต่การสร้างหลักสูตร การดูแลครูและนักเรียนไม่ให้มีการรังแกหรือล่วงละเมิดด้วยเหตุแห่งเพศ เรื่องการมองข้ามเรื่องเพศแต่มองเขาในฐานะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ยัดเยียดมายาคติเดิม ๆ เช่น เป็นพวกวิปริต ต้องผิดหวังในรัก ฯลฯ

มันมีความท้าทายอีกตั้งหลายอย่างที่ภาครัฐ ภาคเอกชนต้องร่วมกันทำ ไม่ใช่แค่เดินพาเหรดสีรุ้ง.