สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า รายงานการสอบสวนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของบีบีซี ระบุว่า มีผู้อพยพ 43 คน เสียชีวิตในทะเลอีเจียน หลังพวกเขาถูกปฏิเสธโดยหน่วยยามชายฝั่งกรีซ ระหว่างเดือน พ.ค. 2563 ถึงเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้อพยพ 9 คน ถูกโยนลงทะเล “โดยเจตนา”

อย่างไรก็ตาม นายพาฟลอส มารีนากิส โฆษกรัฐบาลกรีซ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ทางการกรีซติดตามทุกสื่อสิ่งพิมพ์ และทุกการสืบสวน แต่รายงานของบีบีซี ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และหน่วยยามฝั่งของประเทศ ช่วยชีวิตมนุษย์หลายสิบคนในแต่ละวัน

อนึ่ง กรีซถูกกล่าวหามานานแล้วว่า ดำเนินปฏิบัติการผิดกฎหมาย เพื่อบังคับส่งผู้อพยพกลับประเทศ ทั้งที่พวกเขายอมเดินทางผ่านเส้นทางอันตรายจากชายฝั่งตะวันตกของตุรกี ด้วยความหวังว่าจะไปถึงสหภาพยุโรป (อียู) ได้

แม้รัฐบาลเอเธนส์ปฏิเสธแนวปฏิบัติข้างต้นมาโดยตลอด แต่การสอบสวนหลายครั้ง ของสื่อระหว่างประเทศ และกลุ่มสิทธิต่าง ๆ ได้บันทึกการกระทำของทางการกรีซ และมักมีคลิปวิดีโอหลักฐานด้วย

ด้านบีบีซี ระบุว่า การสอบสวนดังกล่าวตรวจสอบการดำเนินการต่อต้านผู้อพยพ 15 ครั้งในกรีซ ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากรายงานของสื่อท้องถิ่น, องค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) และหน่วยยามชายฝั่งตุรกี บีบีซีก็สามารถสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ได้

ขณะที่ นายเอริก มาเมอร์ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่าอียูตระหนักถึง “ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง” ซึ่งทางการกรีซ และประเทศสมาชิกอียูทั้งหมด ต้องเคารพพันธกรณีภายใต้กฎหมายลี้ภัย และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่.

เครดิตภาพ : AFP