เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำส่วนราชการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ 

สำหรับร่างระเบียบกระทรวงการคลังฯ ดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ที่ ครม. เคยได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นการปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำส่วนราชการ พ.ศ. 2548 โดยส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม 2 จุดนั้น โดยยังคงหลักการเดิม และปรับอัตราเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ดังนี้

1. การปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งมีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 14,600 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วต้องไม่เกินเดือนละ 14,600 บาท

2. การปรับเพดานเงินเดือนขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ ซึ่งมีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 11,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนหรือค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 11,000 บาท 

ทั้งนี้ สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีการจ่ายย้อนหลังด้วย

รวมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าครองชีพชั่วคราว โดยกำหนดให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน หรือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด แล้วแต่กรณีโดยอนุโลม

ทั้งนี้ ให้เก็บหลักฐานการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวไว้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ หรือค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการที่กระทรวงการคลังกำหนดในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย (งบบุคลากร) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลดังกล่าว สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ