เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มิ.ย. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. ที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย รวมเป็น 4 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานรายงาน โดยเนื้อหาร่างทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันคือ การขอแก้ไขผลการออกเสียงประชามติที่ถือเป็นข้อยุติ จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดล็อกไว้ 2 ชั้นคือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 2.ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ให้มีขั้นตอนผ่านการทำประชามติได้ง่ายขึ้น แต่ละฉบับเสนอแก้ไขให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์คะแนนเสียงที่ผ่านประชามติแตกต่างกันไป อาทิ ร่างของรัฐบาล ขอให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และสูงกว่าคะแนนโนโหวต ร่างพรรคเพื่อไทย ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนโนโหวต แต่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ร่างพรรคก้าวไกล ให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ขณะที่ร่างของพรรคภูมิใจไทย เสนอให้แบ่งการทำประชามติเป็น 2 ประเภทคือ 1.ประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม. ไม่ต้องอาศัยเสียงข้างมาก 2 ชั้น ให้ยึดเอาเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงก็เพียงพอ 2.ประชามติเพื่อหาข้อยุติ ให้ยึดจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนสูงกว่าคะแนนโหวตโน

จากนั้นที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้ สส. แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง สส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขขั้นตอนการทำประชามติให้มีหลักเกณฑ์ที่ผ่านการทำประชามติง่ายขึ้น ไม่ต้องยึดเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น โดยมองว่า หลักเกณฑ์เดิมที่ใช้อยู่ เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติในการผ่านประชามติ เนื่องจากการออกเสียงประชามติเป็นเพียงการสอบถามความเห็นประชาชนในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง บางประเด็นอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป จึงไม่ออกมาใช้สิทธิ จึงไม่ควรนำจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงมามีผลต่อการออกเสียง รวมถึงเสนอให้เพิ่มรูปแบบการทำประชามติในแบบอื่นๆ เช่น ไปรษณีย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เพิ่มเติมนอกเหนือจากช่องทางการใช้บัตรลงคะแนน โดยให้ กกต. ออกแบบระบบ เพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่ สส. บางส่วน เสนอให้สามารถทำประชามติได้ในวันเดียวกับการเลือกตั้ง สส. หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณ.