น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 13-16 มิถุนายน 67 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 102,166 บาท ผู้เสียหายเคยติดต่อธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายไว้ ต่อมาได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดเชียงราย ให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน กรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลเอกสารความถูกต้อง โดยส่งลิงก์มาให้ และให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็กยอดเงินในบัญชีของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 70,147 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ จังหวัดลำพูน พื้นที่เขต 2 แจ้งว่าผู้เสียหายได้รับเงินบำเหน็จ โดยส่งลิงก์ให้ผู้เสียหาย ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันพร้อมกรอกยืนยันข้อมูลตัวแล้วจะโอนเงินให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงติดตั้งและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็กยอดเงินในบัญชีของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 462,305 บาท ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินกู้ออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ชื่อเพจปลอม TTB cash2go จึงทักข้อความไปสอบถามเพื่อต้องการกู้เงิน จำนวน 80,000 บาท มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line และให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลแบบฟอร์มการขอสินเชื่อ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ภายหลังแจ้งว่ามีการกรอกข้อมูลผิดพลาด จึงทำให้ระบบไม่สามารถทำรายการได้ให้โอนเงินเพื่อทำการแก้ไขในระบบ ผู้เสียหายโอนเงินไปทั้งหมด 3 ครั้ง จนครั้งที่ 4 ผู้เสียหายไม่โอนไปให้และเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 546,190 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัลอ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยส่งลิงก์ดาวน์โหลดแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการเทรดเหรียญและมีการแนะนำในการลงทุน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้โอนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 70,000 บาท ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line พูดคุยจนสนิทใจได้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน โดยอ้างว่าจะเป็นคนดำเนินการต่าง ๆ ให้ทั้งหมด ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้ตามที่ได้ตกลงกัน เมื่อถึงวันเวลานัดหมายที่จะมารับเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ไม่มารับและไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,250,808 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 66 ถึง วันที่  16 มิถุนายน 67 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 50,072 สาย/เฉลี่ยต่อวัน 3,261 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 93,957 บัญชี/เฉลี่ยต่อวัน 1,037 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 59,105 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.47 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 44,714 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.05 (3) หลอกลวงลงทุน 33,358 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.20 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 15,292 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.88 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 13,505 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.96 และคดีอื่นๆ 27,983 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.44

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพได้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ โดยใช้อุบายหลอกให้ติดตั้งแพลตฟอร์ม เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายกรอกยืนยันข้อมูลส่วนตัว ก่อนที่จะโอนเงินของผู้เสียหายออกไปจากบัญชี ขณะที่บางเคส เป็นการหลอกลวงกู้เงินและให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกรณีเหล่านี้ หากไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของหน่วยงาน หรือสอบถามข้อมูลจากธนาคารหรือบริษัทสินทรัพย์ที่น่าเชื่อให้แน่ชัด ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง” น.ส.วงศ์อะเคื้อ กล่าว