เมื่อโลกกำลังเผชิญหน้ากับ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” และ “ภาวะโลกร้อน” การเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบหลายมิติ ทั้งการใช้ชีวิต ผลผลิตการเกษตร สุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงส่งผลต่อระบบนิเวศ ฯลฯ การร่วมกันขับเคลื่อนและลงมือทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

“บัว” พืชไม้น้ำที่นอกจากมีความหลากหลายสายพันธุ์ ดอกมีสีสันสวย นิยมปลูกประดับและปลูกเพื่อการค้าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่เพียง มิติความสวยงาม ในความมหัศจรรย์ของบัวยังมากด้วยประโยชน์หลายมิติ ทั้งในด้านอาหาร สรรพคุณทางยา เป็นดอกไม้ที่นำมาบูชาพระ เส้นใยบัวยังนำมา สร้างสรรค์สิ่งทอ นำส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบบัว ดอกบัว ฯลฯ นำมาใช้ในกระบวนการพิมพ์  “Eco print” หรือในด้านสิ่งแวดล้อม บัวยังเป็นพืชช่วยบำบัด ดูดซับสารอินทรีย์ต่าง ๆ ช่วยให้น้ำสะอาด

​นอกจากประโยชน์ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้รวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ และปรับปรุงพันธุ์บัว ทั้งพัฒนาต่อยอด ศึกษาการใช้ประโยชน์  นำมาแปรรูป สกัดผงสี โทนสีธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์และพัฒนาต่อยอดเพื่อให้มีสีสัน
เพิ่มขึ้น ทั้งนำส่วนเหลือใช้จากบัวนำมา ผลิตกระดาษ เพิ่มทางเลือกด้านวัสดุ การจัดการขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุ

“บัวที่ปลูกในประเทศไทยมีความโดดเด่นทั้งในด้านองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ นอกจากความสวยงามของบัวซึ่งมีสีสัน ใบ กลีบเกสรดอกบัว สวย ปัจจุบันได้พัฒนา กลิ่นความหอม ใบด่าง ใบลาย เกสรสวยงาม ฯลฯ และสำหรับ การแปรรูปพัฒนาสีจากบัว พิพิธภัณฑ์บัวฯ ศึกษาวิจัยทำงาน ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ รวมถึงพัฒนา ต่อยอดการใช้ประโยชน์บัวร่วมกับคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย”

จากการปลูกขยายพันธุ์และอนุรักษ์ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์บัวให้ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากบัวเพิ่มอีกว่า บัวมากไปด้วยประโยชน์
ทุกส่วนจากบัวมีคุณค่า
ดังเช่น ใบบัว ที่นำมาพิมพ์ลงบนผืนผ้าอีโคพรินต์พิมพ์สีธรรมชาติจากบัวและนำผืนผ้าพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างสรรค์เป็นหมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ รวมถึงดีไซน์เป็นชุดเสื้อผ้า ฯลฯ  ใช้ประโยชน์จากสีและลวดลายจากบัวสร้าง
อัตลักษณ์ และเอกลักษณ์โดยบัวสายในงานพิมพ์ผ้าจะให้สีโทนเขียว น้ำตาล ขณะที่บัวหลวงให้สีโทนเหลือง

ก้านบัว ส่วนนี้ก็ไม่ทิ้ง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นกระดาษ นำไปปั่นจนละเอียดกับกระดาษเหลือใช้โดยสามารถทำสดหรือ
แห้งเพื่อเก็บไว้ใช้งานต่อได้ โดยวิธีทำกระดาษ มีกระบวนการเช่นเดียวกับกระดาษสา และหลังจากได้กระดาษสามารถนำมาดีไซน์สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ กล่องกระดาษ โคมไฟ ของตกแต่ง ปกสมุด ฯลฯ ทั้งนำมาผสมผสานกับวัสดุหนัง หรือ การเคลือบผิว เพื่อความคงทน สวยงามและการขึ้นรูปได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดขยะและสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์

“ก้านบัวมีเส้นใยเนื้อเยื่อเหนียวซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นที่มีความเหมาะสม โดยก้านบัวหลวงและก้านบัวสาย มีความต่างกัน ก้านบัวหลวงจะให้เส้นใยชัดเจน ส่วนก้านบัวสาย เส้นใยมีความอ่อนนุ่ม ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งที่นำของเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า”

ที่ผ่านมาเรายังศึกษาวิจั พัฒนาสีจากบัวประดับ สีธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีเอกลักษณ์นำมาใช้ในงานด้านศิลปกรรม การพัฒนาสีจากบัวประดับได้นำบัวฉลองขวัญ บัวดอกสีม่วง น้ำเงินนำมาสกัดสี ขณะเดียวกันใช้ บัวสายดอกสีแดง และใช้เหง้าบัวฉลองขวัญซึ่งมีสีเหลือง นำมาสกัดเพื่อผลิตเป็นผงสี

 เบื้องต้นสีที่ได้มีเอกลักษณ์ เป็นสีเอิร์ธโทน โดยปีนี้เตรียมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ผลิตสีเพื่อให้ได้สีออกมาใกล้เคียงกับสีจริงของบัว เพิ่มทางเลือกการใช้สีผงสีจากธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืนและสมดุล.