“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ขณะนี้ฝ่ายไทยและฝ่ายมาเลเซียได้ข้อสรุปเรื่องการก่อสร้างโครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หรือ สะพานสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 แล้วทั้งรูปแบบก่อสร้างและงบประมาณ มีแผนเริ่มก่อสร้างภายในปี 68 งบประมาณก่อสร้างรวม 220 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายการก่อสร้างและปรับปรุงสะพานฝ่ายไทย 110 ล้านบาท และฝ่ายมาเลเซีย 110 ล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบ ณ กึ่งกลางสะพาน นอกจากนี้ฝ่ายไทยจะดำเนินงานถนนและสิ่งประกอบโดยใช้งบประมาณอีก 90 ล้านบาท

กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเจรจาร่างความตกลงการก่อสร้างร่วมกัน รวมถึงจัดทำความตกลงกับมาเลเซียในการบำรุงรักษาสะพานทั้งตัวเดิม (สะพานโก-ลก) หรือ สะพานรันเตาปันจัง-สุไหงโก-ลก และสะพานตัวใหม่ด้วย หลังจากเริ่มสร้างสะพานคู่ขนานไปแล้วประมาณ 6 เดือน ในการก่อสร้าง เบื้องต้นจะประกวดราคานานาชาติจะหารือในรายละเอียดต่อไป เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา (ไทม์ไลน์) ก่อสร้างไว้ที่เดือน เม.ย.-มิ.ย. แล้วเสร็จปี 70

สะพานสุไหงโก-ลก 2 จะก่อสร้างคู่ขนานกับสะพานตัวเดิมข้ามแม่น้ำโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เชื่อมรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีระยะห่างสะพานเดิม 8 เมตร รูปแบบเป็นสะพานคอนกรีต ความยาว 116 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร มีทางรถจักรยานยนต์ (จยย.) 1 ช่อง มีทางเท้า 1 ช่อง และมีหลังคาคลุมสำหรับคนเดินเท้าเชื่อมต่ออาคารด่านพรมแดน 

สะพานใหม่จะรับรถทิศทางขาออกจากมาเลเซีย มุ่งหน้าเข้าประเทศไทย การออกแบบสะพานนำสถาปัตยกรรม “เรือ” มาใช้ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของทั้งสองประเทศที่มีความคล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกันจะปรับปรุงสะพานโก-ลก เดิมซึ่งเป็นสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย แห่งแรก เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2516-ปัจจุบัน (ปี 2567) ระยะเวลา 51 ปี เป็นสะพานคอนกรีต ความยาว 109 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร มีทางเท้าสองข้าง ปรับปรุงใหม่ขนาด 2 ช่องจราจรเหมือนเดิม แต่เพิ่มทางรถ จยย. 1 ช่อง และ ทางเท้า 1 ช่อง มีหลังคาคลุมสำหรับคนเดินเท้า เชื่อมต่ออาคารด่านพรมแดน รับรถทิศทางขาออกจากไทย มุ่งหน้าเข้ามาเลเซีย เมื่อแล้วเสร็จ ทำให้มีสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก จากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่อง

ทั้งนี้ สะพานโก-ลก เดิมมีปริมาณการจราจรราว 7,000 คันต่อวัน หากสร้างสะพานคู่ขนานแล้วเสร็จจะรองรับปริมาณการจราจรในการขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ถึง 12,000 คันต่อวัน ประชาชนทั้ง 2 ประเทศจะสะดวกสบายจากการปรับปรุงทำทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม มีความปลอดภัย เพราะแยกช่องทางรถ จยย. ออกจากทางเดินรถขนาดใหญ่ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ