เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา สำเภาเงิน รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงผลการตรวจสอบการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ฉบับประชาชน ที่เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 36,723 คน ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ซึ่ง สำนักงานฯ โดยสำนักสารสนเทศได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอชี้แจงว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายทุกฉบับ เป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของส่วนราชการประจำ ซึ่งจะไม่มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็นได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 13 พ.ค.-12 มิ.ย. 2567 ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภา โดยมีประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เข้ามามีส่วนร่วมในระดับการรับรู้ข้อมูล จำนวน 376,764 คน และเข้ามามีส่วนร่วมในระดับการแสดงความคิดเห็น จำนวน 88,705 คน แต่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ประชาชนผู้ใช้ระบบพบความผิดพลาดของระบบการรับฟังความคิดเห็นหลายประเด็น จากการตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อสงสัยบนสื่อออนไลน์แล้วพบปัญหา เช่น การแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนสุดท้ายและกดปุ่มแสดงความคิดเห็น เพื่อส่งความคิดเห็น พบว่าบางอุปกรณ์ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ โดยไม่ขึ้นข้อความแจ้งเตือนว่า “ท่านได้แสดงความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว” จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากความหนาแน่นของผู้ใช้งานในช่วงเวลานั้น (networks traffic) หรืออาจเกิดกับอุปกรณ์บางชนิด บางประเภท บางรุ่น

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ส่วนข้อผิดพลาดที่ประชาชนสามารถคัดลอกที่อยู่ URL ของหน้าแสดงความคิดเห็นไว้ แล้วนำมาใช้แสดงความคิดเห็นอีกเมื่อครบกำหนดการปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้นั้น พบว่าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง ทางสำนักสารสนเทศ ได้แก้ไขโดยการปิดระบบทั้งในระบบเว็บไซต์และปิดระบบจากการใช้วิธีคัดลอกที่อยู่ URL ของหน้าแสดงความคิดเห็นนี้แล้วทันทีที่ทราบปัญหา และได้มีการปรับปรุงโดยตัดข้อมูลความคิดเห็นที่ส่งมาหลังจากครบกำหนดเวลา คือ หลังเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ออก โดยจะไม่ถูกนำมาประมวลผล 

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีปัญหาการกดปุ่ม เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ในส่วนสุดท้ายของแบบสอบถามเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำการตอบแบบสอบถามในข้ออื่น ๆ แล้วกรอกหมายเลขบัตรประชาชน ก็ยังสามารถส่งความคิดเห็นได้พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เนื่องจากคณะกรรมการฯจัดให้มีขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบโดยให้สะท้อนแนวโน้มความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนั้น ๆ ว่าสมควรจะให้เป็นกฎหมายหรือไม่ แม้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในช่องแสดงความคิดเห็นข้ออื่น ๆ มาก่อน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาของตัวระบบได้ แต่จะส่งผลต่อการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายทุกฉบับที่จะจัดขึ้นในอนาคตต่อไปด้วย กล่าวคือ ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการจะสะท้อนแนวโน้มความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนั้น ๆ จะต้องให้ความเห็นทุกข้อเสียก่อน จึงจะร่วมกดปุ่มแสดงแนวโน้มต่อร่างกฎหมายได้ จึงอาจมีผลกระทบที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยลงสำหรับร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปพิจารณาในคณะกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่ง 

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้กรณีปัญหาระบบรับฟังความคิดเห็นไม่มีขั้นตอนยืนยันตัวตน เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ต้องไม่ทำให้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น อาจต้องพิจารณาปรับปรุงระบบโดยกำหนดให้ต้องใส่เครื่องมือยืนยันตัวตน ด้วยระบบ CAPTCHA เพื่อป้องกันการเข้าแสดงความคิดเห็นในลักษณะ BOT ได้ แต่อาจส่งผลกระทบที่ตามมาได้ที่ทำให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมกับร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ น้อยลง ส่วนที่ไม่ต้องกรอกเลขบัตรประชาชน หรือกรอกเลขไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ก็สามารถกดปุ่มส่งความคิดเห็นได้นั้นทางสำนักสารสนเทศ ใช้ระบบ script เพื่อตรวจสอบรูปแบบบัตรประจำตัวประชาชนเบื้องต้นว่า เลขที่กรอกนั้นเป็นไปตามหลักและผลรวมของบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ระบบการสมัครสมาชิกหรือยืนยันตัวตน เพราะเจตนาต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยง่าย และกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขของผู้แสดงความคิดเห็นที่เหมือนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองกรณีอื่น ๆ ส่วนความผิดปกติในการเรียกใช้งาน Method POST นั้น สำนักงานฯ พบว่าในช่วงวันที่กำหนดมีการเรียกใช้งาน ซึ่งพบว่า IP address ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. มากสุด ปทุมธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ กาญจนบุรี  สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สำนักงานฯ ย้ำว่าการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตามบทบัญญัติของกฎหมายมีเจตนารมณ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายที่ สส. หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอ เพื่อให้มีช่องทางในการสะท้อนความคิดเห็นมาให้กับสภา วุฒิสภา รัฐสภา และคณะกรรมาธิการ ใช้ประกอบการพิจารณาว่าสมควรจะตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ หรือไม่ หรือควรตรากฎหมายในทิศทางใดที่เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในปัจจุบัน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ สังคมน้อยที่สุดโดยยึดหลัก คือ การสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้โดยไม่จำกัดคุณสมบัติด้านอายุ หรือความถี่ในการมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมาย ง่ายต่อการใช้งาน ไม่ใช้ระบบการยืนยันตัวตนเหมือนการมีส่วนร่วมอื่นซึ่งมีกฎหมายกำหนดเงื่อนไข

“การที่รัฐสภาจะตรากฎหมายฉบับใดขึ้นมานั้น ตามรัฐธรรมนูญ 60 ยังคงให้เป็นอำนาจของรัฐสภาพิจารณาว่าสมควรจะตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ออกมาหรือไม่ แต่ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐสภาต้องคำนึงและใช้ประกอบการพิจารณาด้วยทุกขั้นตอน แต่ไม่ถึงขั้นผูกมัดรัฐสภา ที่จะต้องตัดสินใจตามข้อมูลที่ปรากฏในรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น” เลขาธิการสภา กล่าว.