นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม. ได้รายงานผลการประกวดราคา และส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ รฟม.ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด ได้แก่ กลุ่ม BEM ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวต่อว่า หลังกระบวนการศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ก็เป็นอำนาจของ ครม.ที่จะพิจารณาว่าจะให้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเลยหรือไม่ ในส่วนของ รฟม.ต้องรอการพิจารณาเรื่องนี้ก่อน จึงจะดำเนินการหารือกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และเร่งรัดให้เอกชนเริ่มจัดหาขบวนรถ เพื่อเข้ามาให้บริการประชาชน แต่เบื้องต้นเอกชนยืนยันว่ายังคงยืนราคาตามที่เสนอไว้ในการประมูล ทำให้ลงนามสัญญาได้ทันที ไม่ต้องเจรจาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากครม. เห็นชอบให้ลงนามสัญญาได้ ก็จะสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ให้เอกชนเริ่มติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และเร่งจัดหาขบวนรถเข้ามาให้บริการ โดยตามสัญญามีกรอบเวลาให้เอกชนดำเนินการ 3 ปี 6 เดือน

นายวิทยา กล่าวอีกว่า กระบวนการทำงานในโครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านมา พบว่า ในขั้นตอนจัดหาขบวนรถ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการออกแบบตัวรถ และใช้เวลาอีก 1 ปีในการจัดหาขบวนรถ ก่อนจะรับมอบรถมาทดสอบระบบ โดยในช่วงระหว่างนี้ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าก็สามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมคู่ขนานกันไปได้เลย ดังนั้นในภาพรวมก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในการใช้เวลาจัดหาขบวนรถ เพื่อมาให้บริการอย่างเร็วที่สุดประมาณ 2 ปีครึ่ง

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่ายังมีอีก 1 คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่ง BTSC ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการ ม.36  กรณีการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต โดยคดีนี้ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ไม่ได้รับเป็นคดี แต่ทาง BTSC ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ซึ่งศาลฯ ยังไม่มีการเรียกชี้แจงแต่อย่างใด ยังรอศาลฯ เรียกอยู่ อย่างไรก็ตามคดีนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะเป็นการฟ้องส่วนบุคคล คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. โดยหากสุดท้ายแล้วมีการให้เปิดประมูลใหม่ ทาง BTSC ก็พร้อมเข้าร่วมประมูล.