เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/2567 ว่าที่ประชุมมีการนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติออกมาแล้ว ในรายละเอียดอธิบดีกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ให้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการนำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและพิจารณาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้สนับสนุนให้มีการขยายวลาและพื้นที่การจำหน่ายโดยดูจากข้อมูลสถิติตัวเลขและกฎหมายทุกมุ่ม อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำงานด้านนี้และจบที่กระทรวงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันยังมีการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. … ถึง 5 ฉบับ ที่นำเสนอจากฝ่ายต่างๆ

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการติดตามการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำปีงบประมาณ 2567 และผลการศึกษาข้อเท็จจริงกรณีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ภาพรวมพบข้อมูลสถานบริการในพื้นที่ที่มีขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มเกิดผลกระทบมากกว่าพื้นที่ที่ไม่ขยาย โดยพบว่า 1.การเสียชีวิตช่วง 02.00-06.00 น. เพิ่มขึ้น 13.4% จากปี 2566 โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานบริการมาก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต กทม. เพิ่มถึง 23%

2. สถิติคดีเมาแล้วขับ ธ.ค. 2566-มี.ค. 2567 ในจังหวัดนำร่องเพิ่มมากขึ้น 3.ความรับผิดชอบของผู้ขายในเขตโซนนิ่งยังไม่เป็นไปตามที่คาดทั้งหมด เช่น การดำเนินการของสถานบันเทิงที่เรียกรถบริการมาให้ลูกค้าหากวัดแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีการดำเนินการ 85.6% ไม่วัดแอลกอฮอล์ลูกค้าก่อนออกจากร้าน 84% ไม่ตามญาติมารับ หากลูกค้าที่เมาไม่ยอมให้เรียกรถบริการ 75.8% ยังจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนมึนเมาไม่ได้สติ 56.2% ไม่ตรวจบัตรประชาชนบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้า 13.8%

4.รายได้ที่เพิ่มอาจไม่ใช่เรื่องการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์อย่างเดียว และ 17 จังหวัดเมืองหลักที่ไม่ขยายเวลา ก็มีอัตราการเติบโตมากกว่า และ 5.ปัญหาอื่นๆ ที่กำลังติดตามมาจากการเยี่ยมพื้นที่และหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ภูเก็ต และ กทม. ซึ่งพบเหตุเดือดร้อนรำคาญจากคนเมาสุรา กัญชา และเสียงดังรบกวน ภาระงานของตำรวจและห้องฉุกเฉิน รพ. เพิ่มและมีขีดจำกัด แหล่งกำเนิดของธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ทั้งยาเสพติด การมั่วสุมของเยาวชน

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2567 ในวันวิสาขบูชา.