ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี และประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางศาริษา จินดาวงษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นำคณะลงพื้นที่วัดใหญ่สุวรรณารามพระอารามหลวง จ.เพชรบุรี หลังรับแจ้งเสาศาลาการเปรียญโบราณอายุเกือบ 500 ปี ชำรุด

พระครูวัชรสุวรรณาทร เจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบุรี /เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร เปิดเผยว่า สภาพของศาลาการเปรียญ ที่สร้างมานานหลายร้อยปีว่า มีความชำรุดทรุดโทรมเป็นไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะเสาไม้ มีรอยแตก เหมือนกันหมดแทบทุกต้น จึงเร่งประสานทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งหาทางบูรณะสมบัติบรรพชน แหล่งประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา และศิลปะ ภาพเขียนบนเนื้อไม้ วัฒนธรรมเก่าแก่ เกือบ 500 ปี

นายสุชาติ กล่าวว่า ศาลาการเปรียญชำรุดนับเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเป็นสมบัติของชาติ จึงได้เร่งประสานทั้งสำนักงานศิลปากรให้ลงพื้นที่ และฝ่ายวิศวกรรม เร่งมาตรวจสอบความเสียหาย เพื่อจะหาแนวทางในการะซ่อมบำรุงให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการดำเนินการทางด้านงบประมาณ จะได้ประสานไปยัง รมว.วัฒนธรรม ขอเป็นงบฉุกเฉินเร่งด่วน หรืองบกลางมาดำเนินการก่อน หากปล่อยไว้อาจจะเกิดการชำรุดไปกว่านี้

ทางด้านนางศาริษา กล่าวว่า ศาลาการเปรียญ มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นศาลาที่ได้เคลื่อนย้ายมาจากอยุธยา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในสมัยโบราณอาจจะไม่ได้มีน้ำใต้ดินเยอะเหมือนสมัยนี้ อีกทั้งตัวโครงสร้างฐานรากมันเป็นไม้ธรรมดา ทำให้เกิดการทรุด ส่งผลให้ตัวอาคารไม่สามารถแบกรับน้ำหนัก โดยบูรณะมาหลายครั้งแล้ว และตัวหลังคาในสมัยโบราณไม่ได้ปั้นสันหลังคา จึงมีผลกับตัวโครงสร้างทำให้รับน้ำหนักมากเกินไป และอาจเกิดจากเนื้อไม้มันไม่มียางแล้ว ไม่สามารถที่จะมีความชุ่มชื้นในการที่จะทำให้ตัวไม้มันอยู่ได้ในสภาพเดิม จึงเกิดการแตกร้าว

นอกจากนั้นนายกฤษดากร อินกงลาศ ช่างเพชรบุรี กล่าวว่า เสาร้าว เสาผุ ส่งผลถึงปัญหาที่เริ่มตั้งแต่หลังคา โครงสร้างมันเป็นทั้งระบบตัวอาคารเลย ไม่ใช่เฉพาะตัวเสา จึงต้องปรับใหม่ตั้งแต่ฐานรากจนถึงหลังคา ตัวอาคาร เพื่อรักษาให้คงสภาพเดิมอย่างถาวร เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโม ซึ่งเป็นชาวเพชรบุรี ลักษณะเป็นเรือนไทยขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้ผนังเป็นฝาปะกน เครื่องหลังคาเป็นโครงประตูชนิดมีจันทันต่อ มุงด้วยกระเบื้องกาบู บานประตูแกะสลักงดงาม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และที่บานประตูมีรอยทหารพม่า ใช้ขวานจามเพื่อจะจับคนที่อยู่ในศาลา