จากกรณีที่นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการรับผิดชอบคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน พิจารณาสั่งฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 58 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนนัดหมายนายทักษิณเข้าพบ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาล แต่ปรากฏว่านายทักษิณไม่ได้เดินทางเข้าพบอัยการในวันดังกล่าว แต่ได้ทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนเข้าฟังคำสั่งคดีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าติดโควิด-19 พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ประกอบ อย่างไรก็ตาม นายวิพุธ ได้พิจารณาคำร้องที่ทนายความของนายทักษิณนำมายื่นแล้วเห็นว่า เหตุขอเลื่อนเนื่องจากอาการป่วยเพราะติดโควิด-19 จึงอนุญาตให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 18 มิ.ย. 67 เวลา 09.00 น. โดยนัดให้นายทักษิณมาพบที่สำนักงานอัยการสูงสุด รัชดาภิเษก เพื่อเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล อีกทั้งทนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวนายทักษิณ ได้ยืนยันว่านายทักษิณไม่มีการขอเลื่อน และจะเข้าพบอัยการตามกำหนดนัดหมาย ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงกรณีหากในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. นี้ อัยการมีการนำตัวนายทักษิณส่งฟ้องต่อศาล แต่หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว เนื่องด้วยเหตุผลอื่นๆ ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าตัวยังคงอยู่ระหว่างการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ภายใต้การกำกับดูแลของกรมคุมประพฤติ หรือต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า หากในวันพรุ่งนี้ศาลไม่อนุญาตประกันตัว และศาลมีคำสั่งฝากขังยังเรือนจำใด บุคคลนั้น ก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเข้าเรือนจำดังกล่าว โดยเป็นการแยกออกจากคดีเก่าที่เจ้าตัวมีโทษจำคุกและอยู่ระหว่างการพักโทษ เพราะคดีใหม่นี้ (ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพ์) เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะเป็นเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี

เมื่อถามว่าในส่วนที่นายทักษิณ ได้รับการพักโทษและถูกคุมประพฤติ ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง จะถูกยุติไปเลยหรือไม่ เพราะเจ้าตัวมีห้วงเวลาพักโทษ 6 เดือน คือ สิ้นสุดที่เดือน ส.ค.นี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ต้องมองผลการพิจารณาของศาลในวันพรุ่งนี้ หากศาลไม่อนุญาตประกันตัวชั่วคราว การพักโทษก็จะไม่มีผลอะไร เพราะผู้ถูกคำสั่งศาล จะต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำฯ อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะไม่ได้มีอันยุติลง ยืนยันว่าสิทธิในการพักโทษยังคงมีอยู่ ระยะเวลาก็ดำเนินไปตามปกติจนกว่าจะครบ 6 เดือน เพียงแต่ช่วงที่ศาลสั่งควบคุมตัว การพักโทษก็ไม่ได้ส่งผลอะไร

ส่วนประเด็นเรื่องข้อกังวลของสังคมที่อาจจะมองว่าหากนายทักษิณ ถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หากมีอาการเจ็บป่วย จะต้องส่งตัวไปนอนพักรักษาภายนอกเรือนจำฯ เป็นครั้งที่สองอีกหรือไม่นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจงว่า การจะส่งไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง ถ้าเขาไม่มีการเจ็บป่วย ทางราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งตัวออกรับการรักษาได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ในส่วนข้อกังวลว่าอาจเข้าเงื่อนไขของระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ หรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่าระเบียบดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ยืนยันว่า ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถใช้กับผู้ต้องขังรายใดได้ แต่กรมราชทัณฑ์ก็พยายามเร่งรัดเรื่องการวางกรอบแนวทาง หลักการปฏิบัติสำหรับราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติ เพราะก็ค้างมานานแล้ว

ต่อข้อถามว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. 67 นายทักษิณได้รับการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า หากคำนวณตามห้วงเวลาอัตราโทษคงเหลือ คือ 6 เดือน หมายความว่านายทักษิณ จะได้พ้นโทษในวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค. 67 ใช่หรือไม่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายว่า หากมีการคุมประพฤติจนครบตามกำหนด 6 เดือน ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ โดย ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการออกใบบริสุทธิ์พ้นโทษ และส่งเอกสารรายงานดังกล่าวแจ้งไปยังสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

ทั้งนี้ ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีจำนำข้าว ซึ่งศาลตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี โดยมีการคาดการณ์ว่า เป็นผลบวกที่อาจเป็นเหตุให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย ตามรอยพี่ชาย นายทักษิณ ชินวัตร โดยในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลมายังกรมราชทัณฑ์บ้างหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันล่าสุดว่า เจ้าตัวยังไม่ได้มีการประสาน หรือยื่นขออภัยโทษรายบุคคลมายังกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด.