เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 17 มิ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สภาผู้แทนราษฎร ว่า วันนี้มีการเข้ามาชี้แจงกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดยร่างฯ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 มิ.ย. นี้ นั้น จะเป็นร่างฯ ของ ครม. จากการที่คณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเสนอไป สรุปว่าอุปสรรคที่น่าจะมีเป็นอย่างมากใน พ.ร.บ.ประชามติ คือเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น เราจึงเสนอ ครม. ไปว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สมควรที่จะต้องมีการแก้ไขก่อน และ ครม. ก็เห็นชอบ ทั้งคำถาม และจำนวนครั้ง จึงมอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ไปดำเนินการทำร่างฯ โดยเอาร่างฯ ที่เสนอ ครม. และพิจารณาร่างฯ ที่มีอยู่ในสภาแล้วมาประกอบ

นายนิกร กล่าวต่อว่า ทางคณะกรรมการฯ จึงได้เชิญพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้เสนอร่างฯ เข้ามาหารือ โดยได้ข้อสรุปว่าจะนำทั้ง 3 ร่างฯ มาพิจารณา และดึงข้อดีของแต่ละร่างฯ มารวมกัน เท่ากับร่างฯ ของ ครม. คือร่างฯ ที่ผสมผสานกัน จะเรียกว่า “ร่างฯ สมานฉันท์” ก็ได้ จากนั้นนำไปฟังเสียงประชาชน จำนวน15 วัน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ จึงส่งให้ ครม. เห็นชอบ แล้วจึงมีมติให้ส่งเรื่องมาที่วิปรัฐบาล เรียบร้อยแล้วซึ่งตนก็ได้เข้าชี้แจงเรียบร้อยแล้ว วันนี้จะเป็นการชี้แจงกับวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่า ร่างฯ ดังกล่าวเป็นร่างฯ ที่มาจากทุกฝ่าย ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนภายหลังที่มีร่างฯ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เพิ่มเข้ามานั้น ก็เป็นหลักการที่คล้ายกันใจ คาดว่าจะได้รับการพิจารณาทั้งสี่ร่างฯ เพราะมีทิศทางไปในทางเดียวกัน โดยในวันที่ 18 มิ.ย. นี้ นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะเข้ามาชี้แจงต่อสภา

นายนิกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ติดปัญหานิดหนึ่งคือ ร่างฯ นี้ เดิมเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งกฎหมายจะต้องเข้าไปที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่ในขณะนี้ยังไม่มี สว. ก็จำเป็นต้องรอ สว. ปัญหาตรงนี้ยังมองไม่เห็น ส่วนเรื่องของคำถามในการทำประชามตินั้น ตามหลักการที่ ครม. มีมติมา คือให้ไปแก้กฎหมายการทำประชามติให้เสร็จ จากนั้นให้ สปน. ให้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ เข้ามาเพื่อหารือ ว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า การยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งหรือไม่นั้น นายนิกร กล่าวว่า การไม่เว้นมีปัญหามากกว่า การเว้นไว้อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน แต่สามารถอธิบายกัน ทำความเข้าใจกันได้ หากไม่เว้นเท่ากับว่าเราไปแก้หมวด 1 และ หมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็จะมีคลื่นความขัดแย้งเกิดขึ้นได้

เมื่อถามถึง กระแสข่าวหากไม่เว้นการแก้ไข หมวด 1 และหมวด 2 จะมีคนกลุ่มระดมให้คนไม่มาใช้สิทธิ เพื่อล้มการทำประชามติ นายนิกร กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร การทำประชามติครั้งแรก ใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท หากมีคนออกมาใช้สิทธิไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 26 ล้านคน จะส่งผลให้การทำประชามติไม่สำเร็จ และต่อจากนี้ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะการทำประชามติไม่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ ประเด็นอยู่ที่จำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิ แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีการทำประชามติจริง แต่ก็ใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น เพิ่งเกิดทีหลัง.