สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ว่า สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ) ระบุในรายงานประจำปีว่า ความพยายามทางการทูตในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่ ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียด จากความขัดแย้งในยูเครน และฉนวนกาซา

“เราไม่เคยเห็นว่า อาวุธนิวเคลียร์มีบทบาทที่โดดเด่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ นับตั้งแต่สมัยสงครามเย็น” นายวิลเฟรด วัน ผู้อำนวยการโครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของเอสไอพีอาร์ไอ กล่าวในแถลงการณ์

ตามข้อมูลของเอสไอพีอาร์ไอ ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, เกาหลีเหนือ และอิสราเอล ปรับปรุงคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลายประเทศยังนำระบบใหม่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาวุธที่มีความสามารถด้านนิวเคลียร์ มาใช้ในปี 2566 ด้วย

ด้านนายแดน สมิธ ผู้อำนวยการของเอสไอพีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาวุธในยุคสงครามเย็น ถูกถอดแยกชิ้นส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่น่าเสียดายคือ จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้ ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี และแนวโน้มดังกล่าวน่าจะดำเนินต่อไป และอาจจะเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน นักวิจัยหลายคนยังเน้นย้ำถึงความมั่นคงระดับโลกที่เสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา ส่งผลกระทบ “เกือบทุกแง่มุม” ของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์ และความมั่นคงระหว่างประเทศ

“ขณะนี้ พวกเราอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” สมิธ กล่าวเพิ่มเติม และเรียกร้องให้มหาอำนาจของโลก ควรถอยออกมา และไตร่ตรอง เพื่อร่วมมือกัน.

เครดิตภาพ : AFP