เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) ตามที่อัยการได้มีกำหนดนัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลอาญา รัชดาภิเษก หลังอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519 ข้อ 1 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(3)

‘หมอวรงค์’ โต้กลับ ‘วรชัย’ บอกอย่าเดือดร้อนแทน ไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง ปมถุงขนม 2 พันล้าน

ทั้งนี้ตามขั้นตอนนายทักษิณ ในฐานะผู้ต้องหาต้องเดินทางมารับทราบคำสั่งฟ้องกับพนักงานอัยการ จากนั้นทางอัยการจะพาตัวนายทักษิณ พร้อมสำนวนคำฟ้องไปยื่นฟ้องที่ศาลอาญาตามขั้นตอนกฎหมาย

เมื่อมีการฟ้องแล้วและศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีในศาล สถานะของนายทักษิณจะตกเป็นจำเลยตามกฎหมาย ซึ่งภายหลังกระบวนการฟ้องเสร็จสิ้น นายทักษิณมีสิทธิยื่นขอประกันตัว โดยระหว่างนี้ถือว่าตัวนายทักษิณในฐานะจำเลยอยู่ในอำนาจควบคุมของศาล

ดังนั้น หากมีการยื่นประกัน ศาลจะพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย หากสุดท้ายนายทักษิณไม่ได้รับการประกันตัว นายทักษิณ ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั้นพิจารณาคดี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายทักษิณได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 2 มาถึงพนักงานอัยการภายหลังถูกสั่งฟ้อง โดยทางนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่ง จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการสูงสุดที่อาจจะยังยืนยันสั่งฟ้องเช่นเดิม หรือพิจารณาชะลอการสั่งฟ้องออกไปแล้ว ทำการสอบสวนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม สำหรับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เรื่องการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(1)ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2)พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียง
(3)พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4)เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5)ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6)ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7)ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหายแล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้

ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไข อื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น

มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1)ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2)ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3)ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4)ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5)การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว.